752 รวมเข้าชม,  1 เข้าชมวันนี้

เวลานักวิจัยส่งข้อเสนอโครงการวิจัยผ่านระบบ NRIIS เราก็ไม่รู้ว่าเขามีระบบการพิจารณาอนุมัติโครงการกันอย่างไร วันนี้มีบทสรุปจากการเวทีเมธีวิจัยพบนักวิจัยหน้าใหม่ มานำเสนอให้นักวิจัยที่ยังไม่ทราบกระบวนการพิจาณาข้อเสนอโครงการวิจัยให้ได้ทราบด้วยกัน ณ บัดนี้

เมื่อเราส่งโครงการผ่านระบบไปโดยการส่งต่อของหน่วยงานต้นสังกัด. แหล่งทุนต่างๆ จะมีกรรมการพิจารณา 2 ชุด คือ
          1.กรรมการดำเนินการหรือกรรมการกลั่นกรองติดตามและประเมินผลกรรมการชุดนี้จะประกอบขึ้นด้วยกรรมการที่มาจากหลากหลายศาสตร์เกือบเป็น 10 คน บางครั้งเอาผู้แทนจากแหล่งเงินทุนอื่นเข้ามานั่งอยู่ด้วยเพื่อจะตรวจเช็คว่ามีการซ้ำซ้อนลอกเลียนหรือเปล่า กรรมการชุดนี้จะดูในภาพรวมเพื่อคัดเลือกโครงการที่ดีที่สุดเพื่อส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาให้ความเห็นอีกต่อไป (กรรมการชุดนี้สำคัญมากคล้ายๆกองบรรณาธิการวารสาร)
          2. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน3ท่านจะเป็นผู้รู้มาประเมินคุณภาพและความเหมาะสมของข้อเสนอโครงการวิจัย
ดังนั้นเมื่อเราเห็นว่ากรรมการชุดแรกมีบทบาทมาก เราก็มาดูว่าเขาทำอะไรกันบ้างในการตรวจสอบโครงการวิจัยที่เราส่งไป ซึ่งโดยทั่วไปก็จะมีภารกิจดังนี้
          1. ตรวจสอบข้อเสนอโครงการวิจัยว่าถูกต้องตามแบบฟอร์มหรือไม่ ส่งเอกสารครบหรือไม่ ส่งเลยเวลาหรือไม่ ถ้าเลยเวลาก็เก็บเข้ากล่องไม่มองอีกเลย
          2. ตรวจสอบประเด็นวิจัยว่าถูกต้องตามข้อกำหนดของแหล่งทุนหรือไม่ ถ้าส่งไม่ถูกตามแหล่งทุน กรรมการกลุ่มแรกก็จะไม่ส่งต่อไปยังผู้ทรงคุณวุฒิ(กลุ่มแรกสำคัญ ผ่านกลุ่มแรกก็มีสิทธิ์ได้ไปต่อ) เมื่อไม่ส่งต่อก็จะมีคำแนะนำว่าให้ไปส่งกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ เป็นต้น
          3. ตรวจความซ้ำซ้อนข้อเสนอโครงการวิจัย งานวิจัยไหนที่ดูเหมือนมีคนทำมาแล้ว ก็ไม่ได้ไปต่อเพื่อความคุ้มค่ากับงบประมาณแผ่นดิน ดังนั้นนักวิจัยจึงจำต้องมีการรีวิวงานวิจัยอื่นๆ เพื่อให้รู้ว่าประเด็นที่เราสนใจมีใครทำหรือยังไม่มีใครทำหรืองานเราจะไปปิด Gap อย่างไร อันนี้สำคัญมาก หรืออาจจะทำในลักษณะโครงการนำร่องเช่นโครงการวิชาการรับใช้สังคมก่อนก็จะดีมาก
          4. ตรวจสอบประวัติผลงานนักวิจัย และตรวจสอบการค้างงานวิจัย หรืองานยังไม่เสร็จแล้วมาขอต่อ หลายคนนักล่าทุนวิจัยก็จอดในส่วนนี้
          5. ตรวจสอบงบวิจัยที่ขอ ถ้ามากแบบมากเกินความเป็นจริงก็ อาจไม่ได้ไปต่อ แต่ถ้าโครงการไหนน่าสนใจ แต่เขียนงบวิจัยมากเกินไป กรรมการจะคอมเม้นต์ให้ลดงบลง เพราะฉะนั้นงบวิจัยที่ขอมากเกินความเป็นจริง ก็ต้องเสียเวลามาปรับใหม่อีก
          6. ตรวจสอบความเชื่อมโยงสอดคล้องกันของชุดโครงการ ดังนั้นจึงควรเขียนโครงการย่อยในแผนวิจัยให้ยึดโยงประเด็นหลักไว้แม้จะศึกษาในหลากหลายมิติ ในแต่ละโครงการย่อย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเขียนบทสรุปผู้บริหาร ซึ่งจะช่วยให้สามารถเขียนได้ครอบคลุมทุกโครงการย่อยอย่างเป็นเอกภาพ
          7. ตรวจหาชื่อเรื่องข้อเสนอโครงการวิจัยที่เก๋ๆและน่าสนใจ
          8. ตรวจสอบประเด็นการวิจัยกับชื่อเรื่อง บางครั้งชื่อเรื่องใช้คำในลักษณะ Big Word (เช่น นวัตกรรม, การสร้างสรรค์) แต่ข้างในเนื้อหาไม่ได้นำคีย์เวิร์ดสำคัญจากชื่อเรื่องมาเขียนให้กระจ่างชัด ก็อาจไม่ได้ไปต่อ
          9. โครงการวิจัยที่นักวิจัยไม่มีความรู้ตรงตามวัตถุประสงค์การวิจัยที่จะทำ เช่น ไปจ้างทำแอพลิเคชั่น เพราะนักวิจัยไม่ได้จบด้านเทคโนโลยี ควรหานักวิจัยที่มีความเชียวชาญในด้านแอพลิเคชั่นเข้าร่วมในโครงการวิจัยจะดีกว่า
          10. ตรวจสอบว่าข้อเสนอการวิจัยมีการเรียบเรียงด้วยภาษาที่เรียบง่ายกระชับตรงไปตรงมาไม่วรรณกรรมมากเพราะกรรมการมาจากหลายศาสตร์ทั้งในแนะนอกศาสตร์ของข้อเสนอการวิจัย
          11. ตรวจสอบความชัดเจนของข้อเสนอที่จะทำให้กรรมการเข้าใจตรงกันเป็นเอกฉันท์ไม่ต้องให้กรรมการทั้ง10ท่านต้องมาเถียงกันเกี่ยวกับข้อเสนอที่ผู้วิจัยเขียนส่งไป
          12. ตรวจสอบการเขียน Output Outcome Impact ว่าเขียนได้ถูกต้องน่าเชื่อถือหรือเป็นไปได้หรือไม่
          13. ตรวจสอบว่าโครงการวิจัยมีการขอจริยธรรมการทำวิจัยหรือไม่ เพราะการขอตำแหน่งทางวิชาการหรือการตีพิมพ์วารสารบรรณาธิการจะไม่ตีพิมพ์บทความที่ไม่มีการรับรองจริยธรรมการวิจัย
          ตรวจกันละเอียดอย่างนี้ โครงการที่ส่งไปจะได้ไปต่อมัยนะ……

สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์

Recommended Posts