504 รวมเข้าชม,  1 เข้าชมวันนี้

]

วันที่ 21 ม.ค. 64  ณ ตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กับ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กับ  โดยมี พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  เป็นประธานแต่ละฝ่ายในการลงนามในครั้งนี้ พร้อมกันนี้มีตัวแทน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา,รองอธิบดีกรมการแพทย์,นายแพทย์อาคม  ขัยวีระวัฒนะ  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ พระเทพปวรเมธี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร , พระเทพเวที รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต,พระโสภณวชิราภรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศ ผู้บริหารคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ มจร ร่วมเป็นสักขีพยาน

พระธรรมวัชรบัณฑิต กล่าวว่า  วันนี้ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ขออนุโมทนาบุญคณะของอธิบดีกรมการแพทย์ที่ได้ร่วมบำเพ็ญกุศล ให้ความช่วยเหลือพระสงฆ์ด้านสุขภาพมาเป็นเวลาอันยาวนาน ต่อไปคงจะมีกลไกทำงานร่วมกับ มจร โดยมีพระเทพปวรเมธี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร และผู้บริหารระดับสูง รศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไปกับคณะผู้บริหารฝ่ายคฤหัสถ์ ซึ่งต่อไปจะเป็นการลงนามความร่วมมือกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพระสงฆ์ พระนิสิตและผู้ที่จะเข้ามาปฎิบัติธรรม ใน มจร ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ ดังที่ท่านทราบแล้วนั้น

“เรื่องของการดูแลผู้ป่วย พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ร่างกายของมนุษย์เรานี้เป็นรังของโรค โดยธรรมชาติอยู่แล้ว ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาหลายเล่มบอกว่าในร่างกายมนุษย์นี้มีหมู่หนอนอยู่ 80,000 ตัวที่เป็นรังของโรค ก็คือ เชื้อโรค พระพุทธเจ้าจึงให้ความสำคัญ ให้ความสำคัญ ขนาดว่าตั้งพระให้ดูแลพระด้วยกันเองชื่อว่า พระคิลานุปัฎฐาก  เป็นตำแหน่งที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งให้ ซึ่งวันนี้เรากำลังนำพุทธประเพณีตรงนี้กลับคืนนี้ นอกจากนี้ยังมีค่าตอบแทนให้พระอีกชื่อว่า คิลานุปัฎฐากภัต ไม่ให้กังวลเรื่องการใช้การเป็นอยู่

มจร ให้ความสำคัญกับตรงนี้เป็นอย่างมาก พระพรหมบัณฑิต อดีตอธิการบดี องค์เก่า ท่านไปดูงานที่ใต้หวัน ก็นำหลักสูตรชีวิตและความตายมาเปิดระดับปริญญาโท ที่นี้ วันนี้ขออนุโทนากับกรมการแพทย์ที่ดูแลเรื่องสุขภาพกาย มาประสานร่วมกับคณะสงฆ์ และ มจร ที่เชี่ยวชาญการดูแลเรื่องสุขภาพใจ มาประสานทำงานร่วมกันต่อเพื่อพระพุทธศาสนา คณะสงฆ์และประเทศชาติของเรา..”

ส่วนนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้กล่าวว่า  วันนี้นอกจากเป็นเกียรติแล้ว ยังรู้สึกว่าเป็นบุญอย่างยิ่งที่ได้มารับใช้พระพุทธศาสนา ความจริงกรมการแพทย์เรามีความคิดมานานแล้วว่า ต้องการนำการรักษาออกจากโรงพยาบาลคือมองเห็นว่าโลกยุคนี้และยุคอนาคตจำต้องนำการรักษาแบบ ทุกที่ ทุกเวลา

“ปัญหาโรคเรื้อรังในพระคุณเจ้าเป็นกันมาก  ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้มีนิสิตนับหมื่นรูป น่าจะเป็น sandbox ที่ดีในการดูแลผู้ป่วยนอกโรงพยาบาล จริง ๆแล้ววัดนี้เป็นศูนย์กลางของชุมชนเรามาอันยาวนาน คำว่า บวร บ้าน วัด โรงเรียน เป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องร่วมมือกันในการทำงาน ซึ่งต่อไปนี้การทำงานของโรงพยาบาลสงฆ์ ผมได้ให้นโยบายไปแล้วว่า จะต้องดูแลวัดทั่วประเทศ ต่อไปนี้หวังว่าระหว่าง มจร และโรงพยาบาลสงฆ์ จะทำงานขยายงาน มีความร่วมมือกันมากขึ้น โดยเฉพาะการขยาย พระคิลานุปัฎฐาก ที่โรงพยาบาลสงฆ์มีหลักสูตรและจัดอบรมให้อยู่แล้ว..”

ในขณะที่ พระเทพปวรเมธี กล่าวว่า  ความจริงโรงพยาบาลสงฆ์กับคณะสงฆ์เราทำงานร่วมกันมานาน ปัจจุบันมหาเถรสมาคมแต่งตั้ง สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เป็นประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ตอนหลังเรามีธรรมนูญพระสงฆ์ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับระหว่างคณะสงฆ์และกระทรวงสาธารณสุข

“หลังจากมูลนิธิร่วมกตัญญู จัดสร้างสถานพยาบาลให้กับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เราก็พยายามมาต่อเนื่องว่าจะทำอย่างไรจึงจะเปิดได้ เนื่องจากเราติดขัดเรื่องบุคลากรการแพทย์ เวชภัณฑ์ จึงเปิดไม่ได้ ประมาณเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ได้มีการประสานพูดคุยกับโรงพยาบาลสงฆ์ ซึ่งทางโรงพยาบาลสงฆ์ ท่านก็มีแนวคิดจะขยายการรักษานอกโรงพยาบาลอยู่เช่นกัน จึงประจวบเหมาะว่า  มจร เรามีสถานที่พร้อมแล้ว จึงตกผนึกความคิดร่วมกันว่าจะลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมที่จะทำงานร่วมกัน อันนี้คือสิ่งที่เป็นรูปธรรม ในส่วนของวิชาการทาง รพ.สงฆ์ขอความร่วมให้ มจร จัดหลักสูตรอบรมบุคลากรให้กับ รพ.สงฆ์ วิธีปฎิบัติต่อพระสงฆ์ที่มาติดต่อที่เอื้อต่อพระวินัย จะต้องทำอย่างไร พร้อมกับอบรมให้ด้วย ซึ่งเราในฐานะมหาวิทยาลัยสงฆ์คิดว่าไม่มีปัญหา รวมทั้งอนาคตอาจต่อยอดสู่งานวิจัยอื่น ๆ ได้ด้วย ในขณะเดียวกันพระสงฆ์เราก็อาจะต้องปรับตัวด้วย มิใช่ยึด รพ.สงฆ์เป็นที่อยู่ประจำ ส่วนอีกประการหนึ่ง ต้องขอความร่วมมือจากอธิบดีกรมการแพทย์ว่า ขอให้อธิบดี ให้ รพ.ประจำจังหวัดต่าง ๆ  จัดสถานที่ บริหารพระสงฆ์ที่อยู่ทั่วประเทศอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อบันเทาความเดือดร้อนของคณะสงฆ์ รวมทั้งเพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลสงฆ์..”

ต่อจากนั้นคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นำโดย พระพรหมบัณฑิต และ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมคณะได้ร่วมกันประกอบพิธีเปิดการรักษาพยาบาลอย่างเป็นทางการ ณ อาคารสถานพยาบาลของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทุกวันจันทร์ -ศุกร์ เริ่มเวลา 09.00-15.00 น.เป็นต้นไป โดยมีแพทย์ประจำ 1 ท่าน พยาบาล 2 ท่านและเจ้าหน้าที่อื่น ๆ อีกร่วมทั้งสิ้นประมาณ 10 ท่านทุกวัน ดังกล่าวข้างต้น

กองคลังและทรัพย์สิน

Recommended Posts