241 รวมเข้าชม, 1 เข้าชมวันนี้
]
คติการสร้างพระพิมพ์จากพุทธคยาสู่รัฐสุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์พระพิมพ์และคติที่เปลี่ยนไปของชาวมูเตลู
การรำลึกถึงพุทธเจ้าเพื่อเป็นพุทธานุสสติเป็นสิ่งที่ชาวพุทธทั่วโลกยึดปฏิบัติเป็นวัฒนธรรมชาวพุทธ หลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เกิดการสังเวชนียสถานขึ้น อันได้แก่ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา ปรินิพพาน ภายหลังชาวพุทธนิยมสร้างพุทธรูปขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงและการรับอารยธรรมใหม่ผ่านกรีก ซึ่งก่อนนั้น สัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าคือดอกบัวแทนประสูติ บัลลังก์ ต้นโพธิ์แทนการตรัสรู้ ธรรมจักรแทนปฐมเทศนา และสถูปเจดีย์แทนพุทธปรินิพพาน แต่คตินี้ก็ยังได้รับการถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนั้นยังมีการจารึกพระไตรปิฏกเป็นตัวอักษรไว้กับพระสถูป เจดีย์หรือตามพุทธสถานต่าง ๆ ด้วย และเมื่อสังคมพัฒนาการขึ้น คติหรือแนวทางการสร้างสัญญะแทนพระพุทธเจ้าก็เปลี่ยนไปตามกระแสหรือความนิยมในบริบทสังคมนั้น ๆ เสมอ จนกระทั่งเกิดมีการสร้างพระพิมพ์ขึ้น
ในรัฐสุวรรณภูมิ พระพิมพ์ดิน (Terracotta Votive Tablet/Votive Plaque) เหล่านี้เริ่มเข้ามาในแผ่นดินเอเชียอาคเนย์ในยุคสมัยทวาราวดี โดยพิมพ์พุทธประวัติ ในยุคนั้นยังเป็นเรื่องราวในฝ่ายเถรวาทอยู่ เช่น พระพิมพ์ยมกปาฎิหาริย์ พระพิมพ์ธรรมเทศนา พระพิมพ์เสด็จจากดาวดึงส์ แม้กระทั้งพระพิมพ์พระสาวก ( พบที่เขาทำเทียม อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี )
ต่อมา เมื่ออิทธิพลของดินแดนทวาราวดีเสื่อมลงต่ออำนาจของอาณาจักรอีสานปุระที่เข้มแข็งขึ้น ทำให้พุทธศาสนาไปเจริญรุ่งเรืองทางตอนใต้ของดินแดนแหลมทอง ซึ่งได้รับอิทธิพลพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่ได้รับการเผยแพร่จากกลุ่มภิกษุที่มาจากดินแดนทางตะวันออกของอาณาจักรคุปตะ ( ปัจจุบันคือภาคเบงกอลตะวันตกในประเทศอินเดีย ) พระภิกษุผู้นับถือนิกายมหายาน ได้นำพิมพ์พระรูปแบบใหม่เข้ามาด้วย คือพิมพ์พระพุทธเจ้าในคติมหายาน ที่ประกอบไปด้วย พระพุทธ เจ้า ล้อมด้วยพระโพธิสัตว์พระองค์ต่างๆ ซึ่งพิมพ์พระเนื้อดินของทางตอนใต้ของประเทศไทย ในยุคพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 ได้มีการค้นพบที่ถ้ำพระพุทธ จ.ยะลา พบที่ถ้ำเขานุ้ย – ถ้ำเขาสาย จ.ตรัง พบที่ ต.พรุพี อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี พบที่ อ.สทิงพระ จ.สงขลา พบที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
พระพิมพ์ประเภทต่างๆ ที่พบในรัฐสุวรรณภูมิ
พระพิมพ์รูปแบบพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว
พระพิมพ์รูปแบบพระพุทธนี้เป็นพระพุทธเจ้าทรงประทับในซุ้ม มีองค์ประกอบอื่นๆ เช่น สถูป หรือ ธรรมจักรประกอบ ยกตัวอย่างเช่น พระกรุพิมพ์ใบพุทรา วัดนาสนธิ์ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช , พระกรุพิมพ์เม็ดกระดุม เขาศรีวิชัย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี , พระกรุเขาเหมน อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช , พระกรุวัดสนธิ์ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น
พระพิมพ์รูปแบบพระโพธิสัตว์
ส่วนมากที่พบในภาคใต้ จะเป็นรูปเคารพของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือ พระปัทมปาณี และ รูปเคารพของพระชัมภล หรือ ท้าวกุเวร เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพระพิมพ์ในรูปแบบพระโพธิสัตว์นี้ จะปรากฏอยู่ในพระกรุเขานุ้ย เขาสาย จ.ตรัง , พระกรุพรุพี อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี , พระกรุวัดหน้าถ้ำ จ.ยะลา เป็นต้น
พระพิมพ์รูปแบบ พระพุทธประทับร่วมกับพระโพธิสัตว์
มักจะมีรูปแบบที่มีพระพุทธเจ้าทรงอยู่ตรงกลาง ถูกขนาบ หรือ ล้อมด้วยพระโพธิสัตว์ ถ้าหากล้อมด้วยพระโพธิสัตว์สององค์ คือ พระเมตไตรญะ และ พระอวโลกิเตศวร แต่ถ้าหากล้อมด้วยพระโพธิสัตว์แปดพระองค์ คืออัษฎามหาโพธิสัตว์ ประกอบด้วย พระวัชรปาณี พระอวโลกิเตศวร พระมัญชุศรี พระสมันตภัทร พระกษิติครรภ์ พระอากาศครรภ์ พระเมตไตรญะ และพระสรรวนิวรณะวิษกัมภิณ ซึ่งการสร้างพระกรุในรูปแบบนี้ ได้แก่ พระกรุวัดกำแพงถม จ.นครศรีธรรมราช , พระกรุเขานุ้ย – เขาสาย จ.ตรัง พระกรุบนควน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น
พระพิมพ์ทั้ง 3 รูปแบบที่ได้ยกกล่าวมานี้ เป็นรูปแบบพระกรุที่ปรากฏในพุทธศตวรรษที่ 12-13 โดยการสร้างพระกรุในยุคนั้นสร้างขึ้นเพื่อประกาศพุทธศาสนา ให้พุทธศาสนิกชนเข้าใจเรื่องราวได้มากขึ้น และเป็นการเผยแพร่พุทธศาสนารูปแบบหนึ่ง โดยอาศัยการสร้างด้วยแม่พิมพ์ ที่สามารถสร้างจำนวนได้มากกว่าการแกะสลักด้วยหิน จะสังเกตได้ว่า พระกรุเนื้อดินดิบศรีวิชัย มักจะมีการฝังดิน หรือ บรรจุกรุไว้ เพื่อเป็นการบอกกล่าวผู้คนในยุคอนาคตว่า ครั้งหนึ่งเคยมีพุทธศาสนาในดินแดนแห่งนี้ ซึ่งวัตถุประสงค์การสร้างพระกรุของผู้คน
สร้างพระพิมพ์เนื้อดินขึ้นเพื่อประกาศพระศาสนา ให้แสดงถึงอาณาเขตความศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างเป็นรูปธรรม
สร้างพระพิมพ์เนื้อดินขึ้น เพื่อส่งต่อไปยังอนาคต ถ้าหากอาราม หรือ วัดในนิกายมหายานแห่งนี้มีเหตุต้องร้างไป เมื่อวันหนึ่งผู้คนในอนาคตมาพบ จะได้ทราบว่าที่แห่งนี้เคยมีพุทธศาสนามาก่อน และเป็นการบอกกล่าวให้ผู้คนในอนาคต ช่วยสืบสาน จรรโลงพระพุทธศาสนาให้นานที่สุด
สร้างพระพิมพ์เนื้อดินขึ้น เพื่อเป็นเหตุงปัจจัยในการทำบุญกุศล ที่จะปรารถนาเข้าถึงพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า เพื่อที่จะเข้าสู่พระนิพ พาน ซึ่งหลายๆพระกรุในประเทศไทย จะมีข้อความจารึกคาถา “ เย ธัมมาฯ ” เอาไว้ เพื่อประกาศพระศาสนาและประกาศเจตนาเข้าถึงธรรมของพระพุทธเจ้า
เจตนาการสร้างพระกรุสมัยศรีวิชัยเน้นเจตนาทั้งสามข้อเป็นหลักจนถึงพุทธศตวรรษที่ 15 -17 เป็นยุคที่พุทธศาสนานิกายวัชรยานเริ่มมีบทบาทเข้ามาแทนที่พระพุทธศาสนานิกายมหายาน โดยพุทธศาสนานิกายวัชรยานนี้จะมีจุดเริ่มต้นมาจากลพบุรีได้มีการสร้างพิมพ์เนื้อดินเป็นรูปของมณฑลพระพุทธและมณฑลพระโพธิสัตว์ตามแบบวัชรยาน เป็นวัชรมณฑลและครรภะมณฑล ได้แก่
รูปแบบพระพุทธเจ้าพร้อมพระโพธิสัตว์ รูปแบบพระตรีกาย/ตรัยรัตนะมหายาน ( พระพุทธเจ้า 3 พระองค์ นั่งในซุ้มปราสาท ) รูปแบบพระพุทธเจ้าขนาบด้วยพระโพธิสัตว์ตามคติมหายาน-วัชรยาน เช่น พระพุทธเจ้าขนาบด้วยพระปัทมปาณี พร้อมพระปรัชญาปารมิตรา หรือพระพุทธขนาบด้วยพระโพธิสัตว์หรือธรรมบาลองค์อื่นๆ มีพระกรุในรูปแบบนี้ได้แก่ พระกรุวัดพระเวียง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช , พระกรุวัดนางตรา อ.ท่าศาล จ.นครศรีธรรมราช , พระกรุวัดนาสนธิ์ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
รูปแบบมีเฉพาะพระพุทธเจ้า พระกรุพิมพ์นาคปรก พระกรุพิมพ์ซุ้มประตู กรุวัดนางตรา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช หรือ พระกรุพิมพ์ยอดขุนพล พระกรุพิมพ์เทริดขนนก พระกรุพิมพ์นาคปรก จ.ลพบุรี เป็นต้น
รูปแบบมีเฉพาะพระโพธิสัตว์/ธรรมบาล พระกรุรูปแบบนี้ค่อนข้างจะหายาก โดยมากมักเป็นรูปธรรมบาลเหวัชระขนาบด้วยพระพุทธและพระโพธิสัตว์ เป็นรูปมณฑลของพระเหวัชระหรือไม่ก็เป็นรูปของพระเหวัชระเดี่ยวๆ ส่วนมากพระกรุพิมพ์เหวัชระนี้จะพบมากทางภาคกลางของประเทศไทย
ผู้เขียนเห็นว่า เจตนาในการสร้างพระกรุในยุคศรีวิชัย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-17 นี้ โดยส่วนใหญ่มุงหวังเพื่อเป็นการประกาศพระศาสนาเพื่อเป็นการสร้างบุญกุศลให้เป็นเหตุปัจจัยในการบรรลุธรรมตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่สร้างเพื่อเจตนาจะให้บังเกิดความศักดิ์สิทธิ์ตามที่เคยเข้าใจกันมา และผู้สร้างพระกรุไม่ได้นำเอารูปเหมือนพระหรือเทพองค์ใดติดตัวเหมือนในเช่นปัจจุบัน ด้วยคนในยุคนั้นมีความเห็นว่า ร่างกายเป็นสิ่งที่สกปรกไม่คู่ควรที่จะให้พระผู้นิรทุกข์ นิรกิเลส ผู้สูงด้วยธรรมะมาประทับบนเรือนร่างตน อันแตกต่างไปปจากยุคปัจจุบันที่การนำพระพุทธรูปติดตัวด้วยเป็นเรื่องสิริมงคลและจะนำความสวัสดีมาให้แก่ผู้บูชา
คติการสร้างสิ่งแทนองค์พระพิมพ์
ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่า การแขวนพระนั้น น่าจะเกิดขึ้น ช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีการนิยมนำพระพุทธรูป หรือพระพิมพ์องค์เล็กๆ แขวนคอเพื่อประกาศตนเป็นพุทธศาสนิกชน เช่นเดียวกันกับศาสนิกชนศาสนาอื่นๆ ที่พกพาสัญลักษณ์ของศาสนาตนเพื่อประกาศความศรัทธาหรือบ่งบอกตัวตนผ่านอัตลักษณ์ศาสนานั่นเอง
ภาพประกอบ: พระมหาสมพงษ์ สนฺตจิตฺโต, ดร.
เรียบเรียงและเผยแพร่ : พระอภิเชษฐ์ สุภทฺรวาที
ผู้ช่วยบรรณาธิการ : มุกรวี ฉิมพะเนาว์
บรรณาธิการ : พระมหาจีรวัฒน์ กนฺตวณฺโณ, รศ.ดร.
ASEAN Studies Centre