473 รวมเข้าชม,  1 เข้าชมวันนี้

]

เมื่อเราพูดถึงสิทธิของผู้คน เราต้องรวมถึงกลุ่มคนทุกช่วงวัยและผู้คนที่หลากหลายซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในสังคมพร้อม ๆ กับเรา แม้ปัจจุบันจะมีกฏหมายที่ระบุถึงสิทธิของกลุ่มคนต่าง ๆ แต่การเข้าถึงสิทธิ รวมถึงคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกันยังคงเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะเมื่อเราระบุว่าคนเหล่านั้นคือคนพิการ ยิ่งเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำของสังคมที่เราประจักษ์อยู่ตรวหน้าได้เป็นอย่างดี

เราจะทำเช่นไรให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมและสร้างสังคมที่ให้คุณค่ากับผู้คนอย่างเท่าเทียมกันได้ วันนี้ ASEAN Cafe’ ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ศิลาวัฒน์ ชัยวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้กรุณาให้บรรณาธิการสัมภาษณ์ถึงงานวิจัยที่มุ่งนำเสนอแนวทางและนวัตกรรมที่นำคำสอนของพระพุทธศาสนามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคม

สังคมเรามีผู้คนหลากหลาย ไม่ว่าเพศสภาพ คนชายขอบโดยเฉพาะผู้บกพร่องด้านร่างกาย เราจะสร้างสังคมที่ยอมรับความหลากหลายอย่างไร

ก่อนอื่นต้องขออธิบายก่อนว่านิยามของผู้พิการมีทั้งหมด 7 ประเภท แต่ผมขอกล่าวถึงกลุ่มผู้พิการ 2 ประเภทคือ กลุ่มผู้พิการทางการมองเห็น และกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน ทัศนคติของคนในสังคมเกี่ยวกับคนพิการได้เปลี่ยนแปลงไปในมุมมองที่ดีมากขึ้น จากเดิมคนพิการไม่เป็นที่ยอมรับของคนในสังคมถูกมองว่าเป็นผู้บกพร่องทางด้านร่างกายไม่สามารถเข้าสู่ในระบบตลาดแรกงานได้ ถูกผลักให้เป็นกลุ่มคนชายขอบของสังคม แต่ปัจจุบัน เราจะเห็นว่าผู้พิการแต่ละประเภทได้แสดงศักยภาพของตนเองอย่างน่าสนใจ ผ่านสื่อออนไลน์ เช่น Beauty Blogger, Programmer ตลอดจน Producer ในอุตสาหกรรมดนตรี เป็นต้น

เมื่อพูดถึงคนพิการ ผมได้ใช้ชีวิตในวัยเรียนที่โรงเรียนเขลางค์นคร จังหวัดลำปาง เป็นเวลา 6 ปี กับเพื่อนร่วมชั้นที่พิการทางสายตา ตอนแรกๆ ก็คงยังไม่ชินกับการเรียนร่วมกัน เมื่อครูสอนเราก็จดคำอธิบายด้วยปากกา ส่วนเพื่อนที่พิการทางสายตาก็จดคำอธิบายด้วยอักษรเบรลล์หัวเข็มกระทบกับโต๊ะเรียนทำให้เสียงดัง ทำให้เราไม่มีสมาธิ แต่เวลาผ่านไป ผมและเพื่อนในห้องก็เรียนรู้การอยู่ร่วมกันได้ดีเลยทีเดียว และช่วยเหลือกันมาตลอด และปัจจุบันเพื่อนที่พิการทางสายตาประสบความสำเร็จในชีวิตมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่เบื้องหลังการทำเพลงในค่ายเพลงดังของประเทศไทย และนี่เป็นสิ่งสะท้อนให้คนในสังคมได้เห็นว่าเขาก็มีความสามารถไม่น้อยไปกว่าคนปกติในสังคม เพียงเพื่ออวัยวะบางอย่างขาดหายไป

“อย่ามองเขาด้วยความสงสาร จงมองความสามารถและศักยภาพที่เขามี” ทั้งนี้ สิ่งแรกที่เราจะอยู่ร่วมกับผู้พิการได้นั้น ต้องเปิดใจยอมรับในตัวของเขา และศึกษาพฤติกรรมของผู้พิการแต่ละประเภทให้เข้าใจซึ่งจะแตกต่างกันออกไป เช่น คนหูหนวก “เวลา” นั้นถือว่าเป็นทองคำสำหรับเขา ถ้าเขามีเวลาเขาจะรวมกลุ่มกันสนทนาหรือทำกิจกรรมร่วมกันเพราะในแต่ละสัปดาห์เขาต้องเรียนหนังสือ/ทำงาน คนรอบข้างไม่สามารถสื่อสารภาษามือที่เข้าใจได้ ดังนั้นเมื่อเขามีเวลาว่างวันเสาร์-อาทิตย์เขาจึงรวมตัวกันทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์

 

อาจารย์มองว่ากลไกลทางศาสนาจะช่วยส่งเสริมได้มากน้อยเพียงใดครับ

ศาสนาทุกศาสนาถือว่าเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนให้คนในสังคมอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขในท่ามกลางความเป็นพลวัตที่สูง ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ จนทำให้ผู้คนในขาดที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ โหยหาสิ่งที่คาดหายไปในชีวิต เกิดการแก่งแย่ง แข่งขัน จนลืมความเอื้ออาทร ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น มีความเมตตากรุณาต่อกันลดลง เพราะทุกคนล้วนประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่เลวร้าย ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และโรคอุบัติใหม่ จนทำให้พฤติกรรมของกลุ่มคนในสังคมเปลี่ยนไปในทางลบ

ทั้งนี้ผมขอกล่าวถึง ศาสนาพุทธในฐานะที่เป็นพุทธมามกะ และสนองงานรับใช้คณะสงฆ์โดยผ่านองค์กร มจร. วส.ลำปาง ได้ร่วมกันระดมความคิดกับภาคีเครือข่ายแก้ไขปัญหาทางสังคมในกลุ่มผู้พิการให้เป็นสังคมแห่งการเอื้ออาทร เพราะเราอยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน เช่น โครงการพระพุทธศาสนากับสังคมสงเคราะห์ที่ไปร่วมพัฒนาทางด้านจิตใจแก่ผู้พิการทางสายตา อีกทั้งได้ทำวิจัยเรื่อง ภาษามือภาษาธรรม: นวัตกรรมการสอนทางพระพุทธศาสนาสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน กิจกรรมเหล่านี้ถือว่าเป็นกลไกทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญทำให้คนในสังคมเห็นถึงศักยภาพของผู้พิการที่เขาสามารถทำงาน และอยู่ร่วมกับคนปรกติได้อย่างมีคุณภาพ

 

ทุกวันนี้อาจจะมีคนมองว่าศาสนาไม่ได้ช่วยส่งเสริมคนชายขอบเลยโดยเฉพาะผู้พิการอาจารย์มองประเด็นนี้อย่างไร

จากประเด็นนี้คนที่มองว่าศาสนาไม่ได้ช่วยส่งเสริมคนชายขอบหรือกลุ่มผู้พิการไม่น่าจะจริง ยิ่งศาสนาคริสต์หัวใจหลักสำคัญคือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้พ้นทุกข์ทางด้านจิตใจ และจากที่สนองงานคณะสงฆ์ในจังหวัดลำปางผ่าน มจร.วส.ลำปาง มีโครงการต่าง ๆ ที่คอยเข้าไปช่วยเหลือ ชวนนิสิตบรรพชิต และคฤหัสถ์ทำกิจกรรมตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสอนคนตาบอด โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารีย์ และผมยังเชื่อว่า คณะสงฆ์ในจังหวัดต่างๆ ก็มีรูปแบบในการส่งเสริมผู้พิการในลักษณะที่คล้ายๆ กับคณะสงฆ์จังหวัดลำปาง เพราะว่า สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจการคณะสงฆ์ ด้านสาธารณสงเคราะห์

สุดท้ายครับ อยากให้อาจารย์ส่งท้ายด้วยข้อคิดหรือข้อความที่อยากจะฝากให้สังคมตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันและสิทธิ เสรีภาพของคนชายขอบสักเล็กน้อยครับ

สิ่งที่คนในสังคมปัจจุบันที่ช่วยเหลือผู้พิการไม่ว่าจะเป็นผลักดันเรื่องสิทธิ การเปิดใจยอมรับให้เขาเข้ามาทำงานร่วมกับคนปกติได้ ถือว่าเดินทางมาในทิศทางที่ถูกที่ควรแล้ว และอีกอย่าง อยากจะถวายด้วยความเคารพไปยังพระสงฆ์ที่ทำงานร่วมกับกลุ่มคนพิการเหล่านี้ ต้องระมัดระวังในสิ่งที่เราจะสื่อออกไปด้วยทั้ง คำพูด และภาษากาย เพราะเขามีจิตใจที่บอบบาง เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้นั่งสนทนากับ อาจารย์ท่านหนึ่งที่ดูแลคนหูหนวก ท่านกล่าวว่า มีพระรูปหนึ่งพูดกับญาติโยมที่เดินทางเข้ามาทำบุญกฐินและเจ้าอาวาสพูดออกไมโครโฟนว่ากรรมของผู้ที่มาเป็นประธานกฐิน เมื่ออดีตชาติได้ทำกรรมมามากมาย จึงทำให้ชาตินี้ตาบอด ด้วยคำพูดนี้ จึงทำให้เขาไม่พอใจเป็นอย่างมากและสุดท้ายเขาก็ย้ายศาสนา นี้คือสิ่งที่ต้องระมัดระวัง เราควรจะยกตัวอย่างที่สร้างสรรค์ให้เขามีกำลังใจ อย่างเช่น ชาตินี้ตาบอก หรือ หูหนวก เพราะกรรมกำลังทดสอบให้เรามีความอดทน บำเพ็ญเพียรบารมี อะไรก็ว่ากันไป แต่ต้องไปเชิงที่สร้างสรรค์

 

ขอบคุณ
ผศ.ดร.ศิลาวัฒน์ ชัยวงศ์
อาจารย์ประจำวิทยาลัยสงฆ์ลำปาง
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

Connect us, Connect the world.
#ASCNEXT 2023 moving to centre of the PEOPLE
___
Facebook : Mcu Asean
Twitter : ascmcu
IG: ascmcu

ASEAN Studies Centre

Recommended Posts