273 รวมเข้าชม, 1 เข้าชมวันนี้
]
หากล่าวถึงนักษัตรโบราณ ถึงเราไม่อาจกำหนดได้ว่าเกิดขึ้นได้เมื่อใด แต่ตำนานของการใช้นักษัตรสะท้อนให้เราเห็นถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์และสัตว์ของวิถีชีวิตยุคโบราณ แล้วเมื่อสังคมพัฒนาขึ้นนักษัตรและความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องก็ได้พัฒนาขึ้นพร้อมๆ กันด้วย
การนับถือนักษัตรปรากฏอยู่ในทุกวัฒนธรรม ความเชื่อเรื่องนักษัตรไม่ใช่เพียงแค่ความเชื่อเรื่องโชคลางเท่านั้น หากคามรู้ด้านโหราศาสตร์ยังเป็นศาสตร์ชั้นสูงที่มีความสำคัญมากสำหรับการดำรงชีวิตของผู้คน โหราศาสตร์คือวิถีชีวิตของคนยุคเก่าที่ต้องอาศัยความรู้ด้านดิน น้ำ ไฟ ลม การเรียนรู้อยู่กับธรรมชาติ หากปราศจากความรู้ด้านโหราศาสตร์แล้วมนุษย์ก็จะไม่รู้จักวิธีการประกอบอาชีพ เช่น อาชีพการทำนาหรือลูกข้าวต้องรู้เรื่องการคำนวณฤดูกาลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดต่อเดินทางที่ต้องอาศัยทักษะกำหนดเวลาแม่นยำ ยิ่งโดยเฉพาะการเดินเรือในยุคโบราณซึ่งเกี่ยวข้องกับการลมและฤดูกาล หากขาดทักษะนี้การค้าคายเชื่อมภูมิภาคจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
ในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง นอกจากยืนยันว่าชาวอยุธยารู้จักการนับปีนักษัตรแล้วยังแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของฤดูกาลที่ช่วงเวลาไหนการเดินเรือสินค้าและการคมนาคมกับต่างชาติจะแล่นเรือได้อย่างสะดวกและหลักฐานสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ไทยคือการสร้างอาณาจักรนครศรีธรรมราชซึ่งใช้แนวคิด ๑๒ ราศี เรียกหัวเมืองใต้ปกครองว่า “หัวเมือง ๑๒ นักษัตร”
มุมมองการเปลี่ยนแปลงแนวคิดเรื่องนักษัตรของชาวอุษาคเนย์นั้น อาจกล่าวได้ว่าชาวอุษาคเนย์ได้รับอิทธิพลทั้งจากอินเดียและจีนร่วมกันจนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ก็เริ่มรับเอานักษัตรหรือการนับปีแบบตะวันตกตามลำดับ
ถึงกระนั้นเราก็จะพบว่า การรับเอาความเชื่อด้านนักษัตรเข้ามาในวัฒนธรรมของตน ชาวอุษาคเนย์ได้ปรับเปลี่ยนไปตามความเชื่อดั้งเดิมอยู่ไม่ใช่การรับเอาทั้งหมดเสียทีเดียว เช่น เวียดนาม ที่นับนักษัตรแตกต่างออกไปบ้าง
ลำดับของปีนักษัตร 12 ราศี แบบจีน เริ่มจาก ปีชวด (หนู) ปีฉลู (วัว) ปีขาล (เสือ) ปีเถาะ (กระต่าย) ปีมะโรง (มังกรหรืองูใหญ่) ปีมะเส็ง (งูเล็ก) ปีมะเมีย (ม้า) ปีมะแม (แพะ) ปีวอก (ลิง) ปีระกา (ไก่) ปีจอ (หมา) ปีกุน (หมู)
ดังนั้น หากถามชาวเวียดนามว่าปีนี้ปีนักษัตรอะไร ชาวเวียดนามจะตอบว่าปีนี้ปีแมว แทนที่ปีนี้ชาวเวียดนามจะฉลองปีกระต่าย แต่ชาวเวียดนามจะฉลองปีแมวแทน ซึ่งจะพบรูปแบบตั้งเด่นตระหง่านตามมุมต่าง ๆ ของเมืองและชุมชน
แล้วเหตุใดเวียดนามจึงนับปีเป็นปีแมว ก็เพราะวัฒนธรรมบางอย่างรับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอื่น แต่การปรับตัวและผสมผสานความเชื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมตัวเองเป็นเรื่องปกตินั่นเอง และเราก็จะพบการนับปีนักษัตรแมวที่เวียดนามเท่านั้นในอุษาคเนย์
อ้างอิง:-
ประทีป แขรัมย์. (2014). เอกลักษณ์ทางความเชื่อคนต่างวัฒนธรรม: จากลุ่มน้ำโขงในจีนตอนใต้สุดสายที่เก้ามังกรใน เวียดนาม. วารสารศิลปะและวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำมูล, 9(1), 62-70.
ภาพประกอบ: พระมหาสมพงษ์ สนฺตจิตฺโต, ดร.
เรียบเรียงและเผยแพร่ : พระอภิเชษฐ์ สุภทฺรวาที
ผู้ช่วยบรรณาธิการ : มุกรวี ฉิมพะเนาว์
บรรณาธิการ : พระมหาจีรวัฒน์ กนฺตวณฺโณ, รศ.ดร.
ASEAN Studies Centre