168 รวมเข้าชม,  1 เข้าชมวันนี้

]

สิงคโปร์เห็นว่า พลังงานจากไฮโดรเจนเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเมื่อมีการเผาไหม้ จึงมีศักยภาพที่จะเป็นพลังงานทดแทนแห่งอนาคต แม้จะยังเป็นเรื่องใหม่ แต่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เริ่มลงทุนในด้านการพัฒนาพลังงานจากไฮโดรเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยสิงคโปร์ คาดว่า จะสามารถผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจนได้ครึ่งหนึ่งของความต้องการภายในประเทศภายในปี 2593 ทั้งนี้ นาย Wong ได้ประกาศยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนแห่งชาติ เพื่อเป็นหนทางไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอนและเพิ่มความยั่งยืนในอนาคต และความร่วมมือในระดับนานาชาติในสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยมีสาระสำคัญ 5 ข้อ ดังนี้

(1) การศึกษาความเป็นไปได้ที่จะใช้พลังงานจากไฮโดรเจนในวงกว้าง เช่น แอมโมเนีย ที่เป็นพาหะพลังงานของไฮโดรเจน สามารถนำมาใช้เป็นแหล่งเชื้อเพลิงให้กับภาคการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมทางทะเล ทั้งนี้ สิงคโปร์คาดว่าจะเริ่มผลิตและใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้แอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงในปี 2570

(2) การเพิ่มการลงทุน 2 เท่าในโครงการวิจัยและพัฒนาไฮโดรเจน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการนำเข้า การจัดการ และการใช้ไฮโดรเจนอย่างปลอดภัย โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ประสานงานกลางระหว่างภาคอุตสาหกรรมและนักวิจัย เพื่อพัฒนาผลจากการศึกษาและวิจัยให้เป็นรูปธรรมและใช้งานได้จริ

(3) การสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับต่างประเทศที่มีเป้าหมายและแนวคิดใกล้เคียงกัน อาทิ การสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน เพื่อความมั่นคงทางพลังงานและความหลากหลายในการนำเข้าไฮโดรเจนของสิงคโปร์

(4) การศึกษาเงื่อนไขของพื้นที่และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฮโดรเจนใหม่ใน สิงคโปร์ ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังสูง เนื่องจากสิงคโปร์มีสิ่งปลูกสร้างหนาแน่น

(5) การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและแรงงานให้พร้อมต่อการใช้ระบบไฮโดรเจนขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีงานประเภทใหม่ ๆ เช่น การซื้อ ขาย และจัดเก็บไฮโดรเจน และการตรวจสอบ/รับรองการปล่อยก๊าซคาร์บอน เป็นต้น

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีแผนการขยายแผนการเงินสีเขียวและเขตพลังงาน โดยประเมินว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ละประเทศจะต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวรวมเป็นมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนร่วมกัน (collective decarbonization) ดังนั้น สิงคโปร์จึงมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางการเงินสีเขียว (green finance) เพื่อเป็นแหล่งระดมทุนในการพัฒนาสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยสิงคโปร์เน้นความร่วมมือ 3 ประการ (3Ds) ได้แก่

(1) ข้อมูลที่ดีขึ้น (Data)

(2) การเปิดเผยข้อมูลที่มากขึ้น (Disclosure)

(3) การให้คำจำกัดความที่ชัดเจนขึ้น (Definition) เกี่ยวกับการเงินสีเขียว

สิงคโปร์ยังมีแผนด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น แผนการเปลี่ยนมาใช้ยานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาดทั้งหมดภายในปี 2040 แผนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมความยั่งยืนที่ Jurong Island และแผนการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่ Sentosa Island รวมถึงโครงการพัฒนาเขต Jurong Lake ให้เป็นเขตความเจริญแบบยั่งยืนในระดับโลก ซึ่งรวมถึงการก่อสร้างอาคารที่ใช้พลังงานสุทธิ เป็นศูนย์ (zero energy buildings) การติดตั้งระบบจัดการพลังงานอัจฉริยะ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และการใช้จักรยานและรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะในชุมชน

ที่มา https://globthailand.com/singapore-301222/

 

ASEAN Studies Centre

Recommended Posts