145 รวมเข้าชม,  1 เข้าชมวันนี้

]

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ว่า สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชา ในฐานะประธานอาเซียน เตรียมจะมอบนาฬิกาที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ จำนวน 25 เรือน เป็นของขวัญที่ระลึกให้แก่เหล่าผู้นำประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง อย่างการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (อีเอเอส) ที่จะมีประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา และนายหลี่่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เข้าร่วมด้วย ที่กรุงพนมเปญ ระหว่างวันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2565

นาฬิกาดังกล่าวเป็นนาฬิกากลไกตูร์บิยง ซึ่งโด่งดังในเรื่องระบบกลไกที่ซับซ้อนซึ่งสามารถมองเห็นความละเอียดอ่อนนั้นได้จากภายนอก ขณะที่หน้าปัดของนาฬิกามีสีเทาด้าน ซึ่งตกแต่งด้วยคำว่า “ASEAN Cambodia 2022” ซึ่งเป็นชื่อหลักของงานประชุมครั้งสำคัญนี้ ส่วนตัวเรือนของนาฬิกาจะเป็นสีเงินเงา ซึ่งสลักคำว่า “Made in Cambodia”

สมเด็จฯ ฮุน เซน ผู้ซึ่งปกครองกัมพูชามาเป็นเวลาถึง 37 ปีและเป็นเซียนนาฬิกาหรูในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กล่าวว่า นาฬิกาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

กาเบรียล แทน โฆษกของ ปรินซ์ โฮโรโลจี บริษัทผลิตนาฬิกาสัญชาติกัมพูชา ซึ่งรับหน้าที่ออกแบบและประกอบนาฬิกาที่ระลึกอันทรงคุณค่าในครั้งนี้ กล่าวต่อเอเอฟพีว่า นาฬิกาทั้งหมด 25 เรือน ถูกตกแต่งอย่างประณีตและได้รับการขัดเงาอย่างดี และยังมีการใช้ทับทิมสังเคราะห์เพื่อช่วยหนุนกลไกการทำงานของนาฬิกา อีกทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบและผลิตขึ้นในกัมพูชา ซึ่งใช้เวลาตลอดช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี แทนปฏิเสธที่จะพูดถึงราคาของนาฬิกา รวมถึงประเด็นที่ว่ามันมีความหรูหราเกินไป และย้ำว่า หน้าปัดนาฬิกาทำมาจากสเตนเลสสตีล

ขณะที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับของที่ระลึกงานประชุมอาเซียนดังกล่าว โดย อู วิรัก ผู้ก่อตั้งและประธานของกลุ่มฟิวเจอร์ ฟอรัม ที่สนับสนุนประชาธิปไตย กล่าวว่า “พวกเราไม่ใช่สวิตเซอร์แลนด์ มันดูฝืนมาก อย่างน้อยเมื่อมองจากภายนอก” และว่า “คุณต้องตั้งคำถามด้วยว่าจริงๆ แล้วใครที่ผลิตนาฬิกาเหล่านี้ ผมแค่หวังว่ามันจะไม่ใช่บริษัทจีนที่สร้างนาฬิกาแล้วปั๊ม “Made in Cambodia” ลงเท่านั้น”

ทั้งนี้ บริษัท ปรินซ์ โฮโรโลจี เป็นบริษัทในเครือ ปรินซ์ กรุ๊ป และอยู่ภายใต้การบริหารของ เฉิน จี ชาวจีนที่ได้รับสัญชาติกัมพูชาเมื่อปี 2014 ตามข้อมูลจากสำนักข่าว เรดิโอ ฟรี เอเชีย

 

ที่มา: มติชน ออนไลน์

ASEAN Studies Centre

Recommended Posts