150 รวมเข้าชม,  1 เข้าชมวันนี้

]

ธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่คาดการณ์ หวังผ่อนคลายสถานการณ์เงินเฟ้อที่คาดว่าจะพุ่งสูงเกิน 6% ในปีนี้ ท่ามกลางเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลง
.
ธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรที่มีสัญญาขายคืนระยะเวลา 7 วัน (Seven-Day Reverse Repurchase Rate) ที่ 50 จุดเป็น 4.25% เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่นักเศรษฐศาสตร์เพียง 7 จาก 37 คนเท่านั้นที่คาดการณ์ไว้ เพราะส่วนใหญ่คาดว่าจะปรับขึ้นแค่ 25 จุด
.
อย่างไรก็ดี มีการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะสูงกว่า 6% ภายในสิ้นปีนี้ จาก 4.69% ในเดือนสิงหาคม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา
.
นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวยังเป็นการปรับขึ้นที่รุนแรงที่สุดของธนาคารกลางอินโดนีเซียนับตั้งแต่กลางปี 2561 เนื่องจากสกุลเงินรูเปียห์อ่อนค่าลงถึง 15,000 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐมีท่าทีจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและจะใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว และถึงแม้ว่าอินโดนีเซียจะค่อนข้างมีความยืดหยุ่นเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่ค่าเงินที่อ่อนตัวลงได้เพิ่มความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ประกอบกับราคาสินค้าที่อยู่ภายใต้แรงกดดันจากการเคลื่อนไหวของรัฐบาลในการลดเงินอุดหนุนด้านพลังงานบางส่วนด้วย
.
อย่างไรก็ดี นาย Warjiyo ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซียกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในอินโดนีเซียยังสามารถควบคุมได้เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงมากขึ้นไปอีกไม่จำเป็นสำหรับอินโดนีเซีย และยังย้ำว่าธนาคารกลางจะรักษาเสถียรภาพของเงินรูเปียห์ตามปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งสกุลเงินดังกล่าวได้สูญเสียมูลค่าลงไปแล้วประมาณ 5% ต่อดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ แต่ยังคงทำให้อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าหลายๆ ประเทศในเอเชีย ซึ่งดีกว่าเงินวอนของเกาหลีใต้และเงินเยนของญี่ปุ่นที่สูญเสียมูลค่าไปแล้วกว่า 15%
ที่มา AEC Connect

ASEAN Studies Centre

Recommended Posts