1,897 รวมเข้าชม, 1 เข้าชมวันนี้
]
อาเซียน (ASEAN) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East AsianNations หรือ ASEAN) โดยการจัดตั้งในครั้งแรกมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมและร่วมมือในเรื่องสันติภาพ, ความมั่นคง, เศรษฐกิจ, องค์ความรู้, สังคมวัฒนธรรม บนพื้นฐานความเท่าเทียมกันและผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก เป็นการรวมตัวกันของ 10 ประเทศ ในทวีปเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ ผู้นำอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฎิญญาว่าด้วย ความร่วมมืออาเซียนเห็นชอบ ให้จัดตั้ง ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) คือ เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจุดเริ่มต้นโดยประเทศไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ได้ร่วมกันจัดตั้ง สมาคมอาสา (Association of South East Asia) เมื่อเดือน ก.ค.2504 เพื่อการร่วมมือกันทาง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม แต่ ดำเนินการ ไปได้เพียง 2 ปี ก็ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากความผกผันทางการเมือง ระหว่างประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย จนเมื่อมีการฟื้นฟูสัมพันธ์ทางการฑูต ระหว่างสองประเทศ จึงได้มีการแสวงหาหนทางความร่วมมือกันอีกครั้ง และสำเร็จภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) แต่ต่อมาได้ตกลงร่นระยะเวลาจัดตั้งให้เสร็จในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ในปีนั้นเองจะมีการเปิดกว้างให้ประชาชนในแต่ละประเทศสามารถเข้าไปทำงานในประเทศ อื่น ๆ ในประชาคมอาเซียนได้อย่างเสรี เสมือนดังเป็นประเทศเดียวกัน
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations หรือ ASEAN) ก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) หรือ ปฏิญญาอาเซียน (ASEAN Declaration) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 โดยมีประเทศสมาชิก 5 ประเทศ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สาเหตุหลักที่ทำให้ระยะแรกประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือระหว่างกันในระดับภูมิภาค ส่วนหนึ่งมาจากการที่ก่อนหน้านี้แต่ละประเทศในภูมิภาคโดยเฉพาะประเทศที่เพิ่งผ่านพ้นจากการเป็นอาณานิคม ยังคงยึดถือหลักการของเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดน ภายใต้ความรู้สึกชาตินิยม ทำให้แต่ละประเทศมองถึงผลประโยชน์ของตนในกรอบที่แคบ และไม่สามารถมองเห็นผลประโยชน์ของชาติในกรอบที่ใหญ่กว่าได้ ดังนั้น ความร่วมมือในระดับภูมิภาคจึงยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ต่อมา เมื่อเวลาผ่านไป หลายประเทศเริ่มเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนเพิ่มเติม ได้แก่ บรูไนดารุส-ซาลาม เวียดนาม ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา ตามลำดับ จึงทำให้ปัจจุบันอาเซียน มีสมาชิก 10 ประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้อาเซียนจะเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในเวทีโลก แต่น้อยคนที่ทราบว่ากว่าจะมีวันนี้ได้นั้น ผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการผลักดันให้เกิดอาเซียนจนเป็นผลสำเร็จนั้น คือประเทศไทย โดยเฉพาะนักการทูตไทย สองท่าน ซึ่งเป็นผู้ได้รับการยอมรับนับถือจาก นักการทูตและผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก คือ ฯพณฯ รัฐมนตรีฯ ถนัด คอมันตร์ และ ดร.สมปอง สุจริตกุล
ท่าน ดร. ถนัดฯ เป็นนักการทูตและการต่างประเทศ ผู้ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และเป็นบิดาผู้ให้กำเนิดอาเซียน ด้วยคิดริเริ่มของท่าน ที่จะสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นความร่วมมือที่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคสามารถควบคุมทิศทางการดำเนินนโยบาย และอนาคตของตนเองได้อย่างแท้จริง เพื่อนำตนเองให้รอดพ้นจากภัยสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต การแข่งขันเพื่อช่วงชิงความเป็นหนึ่งในเอเชียระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต และการที่จีนเร่งขยายอิทธิพลด้านการเมืองและการทหารของตนเข้าไปในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคจนทำให้เกิดการสู้รบในรูปแบบของสงครามกองโจร และการก่อการร้ายในหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย ดร.ถนัด คอมันตร์ ได้ใช้ความพยายามในการชี้ให้ผู้นำประเทศเหล่านี้ตระหนักถึง สภาพแวดล้อม และสถานการณ์ที่แท้จริงภายในภูมิภาค ทำให้ผู้นำของประเทศต่าง ๆ เหล่านี้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือภายในภูมิภาค เพื่อผลประโยชน์ของทุกประเทศร่วมกัน ซึ่งการใช้ความพยายามในการโน้มน้าวความคิดของผู้นำประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ ประเทศไทยได้ใช้การทูตแบบไม่เป็นทางการ (informal diplomacy) เป็นหลัก โดยตอกย้ำถึง ความผูกพันที่ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งตัวผู้นำประเทศ มีต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน ทั้งในด้านภาษา ศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี ประวัติศาสตร์ และความเป็นอยู่ของประชาชน จนความไว้เนื้อเชื่อใจบังเกิดขึ้น และผู้นำประเทศต่าง ๆ เริ่มที่จะมีท่าทีที่ผ่อนคลาย และเป็นกันเองต่อกัน ซึ่งต่อมาการทูตแบบไม่เป็นทางการ การทูตแบบ sports shirt diplomacy และการทูตบนสนามกอล์ฟ ในลักษณะนี้ได้กลายเป็นจารีต และจุดเด่นทางการทูตของผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศสมาชิกอาเซียน เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน บริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทำให้อาเซียนต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายใหม่ๆ อาทิเช่น โรคระบาด การก่อการร้าย ยาเสพติด การค้ามนุษย์ สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ อีกทั้ง ยังมีความจำเป็นต้องรวมตัวกันเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและขีดความสามารถทางการแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคใกล้เคียง และในเวทีระหว่างประเทศ ผู้นำอาเซียนจึงเห็นพ้องกันว่า อาเซียนควรจะร่วมมือกันให้เหนียวแน่น เข้มแข็ง และมั่นคงยิ่งขึ้น จึงได้ประกาศ “ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในอาเซียน ฉบับที่ 2” (Declaration of ASEAN Concord II) ซึ่งกำหนดให้มีการสร้างประชาคมอาเซียนที่ประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่
ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community – APSC) มุ่งให้ประเทศกลุ่มสมาชิกอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แก้ไขปัญหาระหว่างกันโดยสันติวิธี มีเสถียรภาพและความมั่นคงรอบด้าน เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของเหล่าประชาชน
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) มุ่งเน้นให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆได้โดย
ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio – Cultural Community – ASCC) มุ่งหวังให้ประชากรอาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีความมั่นคงทางสังคม มีการพัฒนาในทุกๆ ด้าน และมีสังคมแบบเอื้ออาร โดยจะมีแผนงานสร้างความร่วมมือ 6 ด้าน คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน การลดช่องว่างทางการพัฒนา
จุดประสงค์หลักของอาเซียน
ปฏิญญากรุงเทพฯ ได้ระบุวัตถุประสงค์สำคัญ 7 ประการของการจัดตั้งอาเซียน ได้แก่
ส่งเสริมความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และการบริหาร
ส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงส่วนภูมิภาค
เสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจพัฒนาการทางวัฒนธรรมในภูมิภาค
ส่งเสริมให้ประชาชนในอาเซียนมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี
ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในรูปของการฝึกอบรมและการวิจัย และส่งเสริมการศึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เพิ่มประสิทธิภาพของการเกษตรและอุตสาหกรรม การขยายการค้า ตลอดจนการปรับปรุงการขนส่งและการคมนาคม
เสริมสร้างความร่วมมืออาเซียนกับประเทศภายนอก องค์การ ความร่วมมือแห่งภูมิภาคอื่นๆ และองค์การระหว่างประเทศ
ภาษาอาเซียน ภาษาทางการที่ใช้ในการติดต่อประสานงานระหว่างประเทศสมาชิก คือ ภาษาอังกฤษ
คำขวัญของอาเซียน “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม” (One Vision, One Identity, One Community)
อัตลักษณ์อาเซียน อาเซียนจะต้องส่งเสริมอัตลักษณ์ร่วมกันของตนและความรู้สึกเป็นเจ้าของในหมู่ประชาชนของตน เพื่อให้บรรลุชะตา เป้าหมาย และคุณค่าร่วมกันของอาเซียน
สัญลักษณ์อาเซียน
สัญลักษณ์อาเซียน หรือเรียกว่า ดวงตราอาเซียน เป็น รูปมัดรวงข้าว สีเหลืองบนพื้นวงกลม สีแดงล้อมรอบด้วยวงกลมสีขาว และสีน้ำเงิน มีความหมายคือ
รวงข้าวสีเหลือง 10 ต้น หมายถึง ความใฝ่ฝันของบรรดาสมาชิกในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศ ให้มีอาเซียนที่ผูกพันกันอย่างมีมิตรภาพและเป็นหนึ่งเดียว
วงกลม เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเอกภาพของอาเซียน
ตัวอักษรคำว่า asean สีน้ำเงิน อยู่ใต้ภาพรวงข้าว แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อความมั่นคง สันติภพ เอกภาพ และความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกอาเซียน
สีเหลือง : หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง
สีแดง : หมายถึง ความกล้าหาญและการมีพลวัติ
สีขาว : หมายถึง ความบริสุทธิ์
สีน้ำเงิน : หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง
ธงอาเซียน
ธงอาเซียนเป็นธงพื้นสีน้ำเงิน มีดวงตราอาเซียนอยู่ตรงกลาง แสดงถึงเสถียรภาพ สันติภาพ ความสามัคคี และพลวัตของอาเซียน สีของธงประกอบด้วย สีน้ำเงิน สีแดง สีขาว และสีเหลือง ซึ่งเป็นสีหลักในธงชาติของบรรดาประเทศสมาชิกของอาเซียนทั้งหมด
วันอาเซียน ตรงกับวันที่ 8 สิงหาคม ของทุกปี กำหนดให้เป็นวันอาเซียน
เพลงประจำอาเซียน (ASEAN Anthem) คือ เพลง ASEAN WAY
กฎบัตรอาเซียน
กฎบัตรอาเซียน กำหนดให้อาเซียนและประเทศสมาชิกปฏิบัติตามหลักการโดยสรุป ดังต่อไปนี้
เคารพเอกราช อธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน และอัตลักษณ์แห่งชาติของรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งปวง
ผูกพันและรับผิดชอบร่วมกันในการเพิ่มพูนสันติภาพ ความมั่นคง และความมั่งคั่งของภูมิภาค
ไม่รุกรานหรือข่มขู่ว่าจะใช้กำลังหรือการกระทำอื่นใดในลักษณะที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ
ระงับข้อพิพาทโดยสันติ
ไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิกอาเซียน
เคารพสิทธิของรัฐสมาชิกทุกรัฐในการธำรงประชาชาติของตนโดยปราศจากการแทรกแซง การบ่อนทำลาย และการบังคับจากภายนอก
ปรึกษาหารือที่เพิ่มพูนขึ้นในเรื่องที่มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อผลประโยชน์ร่วมกันของอาเซียน
ยึดมั่นต่อหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล หลักการประชาธิปไตยและรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ
เคารพเสรีภาพพื้นฐาน การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม
ยึดถือกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ที่ รัฐสมาชิกอาเซียนยอมรับ
ละเว้นจากการมีส่วนร่วมในการคุกคามอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดนหรือเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของรัฐสมาชิกอาเซียน
เคารพในวัฒนธรรม ภาษา และศาสนาที่แตกต่างของประชาชนอาเซียน
มีส่วนร่วมกับอาเซียนในการสร้างความสัมพันธ์กับภายนอกทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยไม่ปิดกั้นและไม่เลือกปฏิบัติ
ยึดมั่นในกฎการค้าพหุภาคีและระบอบของอาเซียน
หมายเหตุ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก กฎบัตรอาเซียน http://asc.mcu.ac.th/main/?p=3984
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://asean2019.go.th/th/abouts/birth-of-asean/
https://www.huayyangsakon.go.th/index/?page=article9378
ASEAN Studies Centre