660 รวมเข้าชม, 1 เข้าชมวันนี้
]
การพัฒนาการ
พระไตรปิฎกในประเทศไทย
๑. กำเนิดและพัฒนาพระไตรปิฎก
พระไตรปิฎก แยกออกเป็น พระ–ไตร–ปิฎก หมายถึงคัมภีร์ที่รวบรวมคำสั่งสอนพระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวดเป็นหมู่ ประกอบด้วย ๓ หมวดใหญ่ ๆ คือ พระวินัย พระสูตร และ พระอภิธรรม
๒. จากพระธรรมวินัยสู่พระไตรปิฎก
จะเห็นได้ว่าก่อนที่จะมีคำว่า ปิฎก คำที่พระพุทธเจ้าใช้เป็นอันดับแรก คือ ธรรม และวินัย ดังพระบาลีที่พระองค์ได้ทรงตรัสถึงว่า
สฺวากฺขาโต ธมฺโม สมฺมาทุกฺขอนฺตกิริยาย พฺรหฺมจริยํ จรถ
และก่อนจะปรินิพพาน ทรงตรัสว่า
โย โว อานนฺท ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา
ในมหาวิภังค์ สังฆาทิเสส ข้อ ๗ ได้กล่าวถึง พระทัพพมัลลบุตร ได้จัดเสนาสนะแก่พระสงฆ์ฝ่ายสุตตันติกาไว้ในที่ใกล้กัน ฝ่ายวินัยธรไว้ใกล้กัน และฝ่ายอาภิธัมมิกาไว้ใกล้ ๆ กัน เพื่อท่านเหล่านั้นจะได้สวด จะได้วินิจฉัย และได้ถามกันได้สะดวก แสดงว่า เริ่มมีแยกสงฆ์ตามถนัดในการศึกษาเล่าเรียน
มีข้อน่าสังเกตว่า มีการบรรจุเรื่องสังคายนา ครั้งที่ ๑ และสังคายนาครั้งที่ ๒ ไว้ในขันธกะ ที่ ๒๑ และ ๒๒ แห่งวินัยปิฎก และนำเอากถาวัตถุไว้ในอภิธรรม ๗ คัมภีร์ แสดงว่ามีการแบ่งคำสอนสมบูรณ์แบบในสังคายนาครั้งที่ ๓
๓. มุขปาฐะ และการจารึกบนใบลาน
มุขปาฐะ หมายถึง การฟังธรรมวินัยแล้วทรงจำ ทำให้คล่องปาก บอกกล่าวกันต่อ ๆ มาโดยไม่ต้องจดบันทึก ดุจการท่องเจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน การท่องพระปาติโมกข์ เป็นต้น โดยทั่วไปนิยมท่องกันเป็นกลุ่ม ๆ ตามความเชี่ยวชาญของครูอาจารย์ ซึ่งการจดจำโดยมุขปาฐะนี้ แม้ในปัจจุบันก็ยังคงมีในบางประเทศยังคงยึดถืออยู่เช่น ในประเทศพม่าเป็นต้นยังมีพระเถระที่นิยมทรงจำพระไตรปิฎกด้วยปากเปล่าอยู่
ต่อมาในการสังคายนา เมื่อ พ.ศ. ๔๓๓ ในศรีลังกา อันมีพระรักขิตมหาเถระเป็นประธาน และมีพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัยเป็นองค์อุปภัมภ์ ได้เห็นพ้องว่า การท่องจำพระธรรมวินัยมิให้วิปริตผิดพลาดเป็นเรื่องยาก สมควรจารึกพระพุทธวจนะลงบนใบลาน หลังจากสังคายนาเสร็จลง ต่อมาก็มีผู้จารึกในแผ่นทองเหลืองและแผ่นหินอ่อน ฯลฯ
๔. พระสาวกสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของพระไตรปิฎก
ก่อนการสังคายนา จะเห็นได้ว่า พระไตรปิฎก ยังคงมิได้จัดเป็นหมวดหมู่ ต่อมาในภายหลัง หลังจากที่พระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว จึงมีการจัดเป็นหมวดหมู่ เรียกว่า พระไตรปิฎก ขึ้นโดยพระมหาเถระซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากหลายรูปด้วย อาทิเช่น
พระมหากัสสปะ – อยู่ป่าเป็นวัตรมีปฏิปทาที่น่าศึกษาในกัสสปสังยุต
พระอานนท์ – พุทธอุปัฎฐาก – เป็นพหูสูตร ทรงจำพระสูตร
พระอุบาลี – ชำนาญในพระวินัย – วินัยธร
ที่ควรสังเกต คือพระจุนทะ พระสารีบุตร และพระโสณกุฏิกัณณะ ล้วนเกี่ยวข้องกับการสังคีติร้อยกรองธรรมวินัยทั้งสิ้น
๕. การสังคายนา พระไตรปิฎก
วิธีการสังคายนา ที่เรียกว่าวิธีการร้อยกรองหรือรวบรวมพระธรรมวินัย หรือประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็คือนำเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาแสดงในที่ประชุม แล้วก็มีการซักถามกัน จนกระทั่งที่ประชุมลงมติว่าเป็นอย่างนั้นแน่นอน เมื่อได้มติร่วมกันแล้วในเรื่องใดก็ให้สวดพร้อมกัน
การสวดพร้อมกันนั้น แสดงถึงการลงมติร่วมกันด้วยและเป็นการทรงจำกันไว้อย่างนั้นเป็นแบบแผนต่อไปด้วย หมายความว่า ตั้งแต่นั้นไป คำสอนตรงนั้นก็จะทรงจำไว้อย่างนั้น เมื่อจบเรื่องหนึ่งก็สวดพร้อมกันครั้งหนึ่ง อย่างนี้เรื่อยไป ใช้เวลาถึง ๗ เดือน
การสวดพร้อมกันนั้นเรียกว่า สังคายนา เพราะคำว่า “สังคายนา” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สังคีติ” แปลว่า สวดพร้อมกัน คายนา หรือ คีติ (เทียบกับคีต ในคำว่า สังคีต) แปลว่า การสวด สํ แปลว่า พร้อมกัน สังคายนา ก็คือสวดพร้อมกัน ถ้าเป็นชาวบ้านก็ร้องเพลงพร้อมกัน
– การสังคายนาในอินเดีย
ครั้งที่ ๑ ปรารภคำจ้วงจาบของพระสุภัททะ เมื่อพุทธปรินิพพานได้ ๓ เดือน ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา เวภารบรรพต ทำอยู่ ๗ เดือน โดยพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป พระมหากัสสปะเป็นประธาน พระเจ้าอชาตศัตรู เป็นผู้อุปถัมภ์
ครั้งที่ ๒ ปรารภ วัตถุ ๑๐ ประการ ของวัชชีบุตร ทำที่วาลุการาม เมื่อ พ.ศ. ๑๐๐ ปี ทำอยู่ ๘ เดือน มีพระยศกากัณฑกบุตร เป็นประธาน พระอรหันต์๗๐๐ รูป พระเจ้ากาลาโศกราช อุปถัมภ์
ครั้งที่ ๓ ปรารภเดียรถีร์ปลอมบวช ๖๐,๐๐๐ คน พ.ศ. ๒๓๘ ณ อโศการาม เมืองปาตลีบุตร ทำอยู่ ๙ เดือน พระ ๑,๐๐๐ รูป มีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ เป็นประธาน พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้อุปถัมภ์
ครั้งที่ ๔ สัพพัตถิกวาท ปรารถนาจะให้มหายานมั่นคง พ.ศ. ๖๔๓ ที่เมือง ชาลันธร แคว้นกัสมีระ พระเจ้ากนิษกะ อุปถัมภ์ มีท่านปารศวะมหาเถระ เป็นประธาน จารึกธรรมลงในแผ่นทองเหลือง เก็บไว้ในหีบศิลา เก็บไว้อย่างดีในพระเจดีย์
การสังคายนาต่อจากนี้ เป็นเรื่องเฉพาะในประเทศนั้นๆ คือ ศรีลังกา ๓ ครั้ง พม่า ๒ ครั้ง ไทย ๓ ครั้ง
– การสังคายนาในศรีลังกา
นับในอินเดีย ๓ ครั้ง และในศรีลังกาอีก ๓ ครั้ง คือ
ที่อนุราธปุระ พ.ศ. ๒๓๘
ที่อาโลกเวณสถาน มตเวชนบท พ.ศ. ๔๓๓ จารึกลงใบลาน
พ.ศ. ๒๔๐๘ ที่รัตนปุระ
– การสังคายนาใน พม่า
นับในอินเดียได้ ๓ ครั้ง นับในลังกาได้ ๑ ครั้ง เฉพาะ ปี พ.ศ. ๔๓๓ จึงเรียกการสังคายนาครั้งแรกในพม่าว่า ปัญจมสังคายนา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ ที่มัณฑเล ชาคราภิวังสมหาเถระ เป็นประธาน ในสมัยพระเจ้ามินดง แล้วจารึกลงในหินอ่อน ๗๒๘ แผ่น ครั้งที่ ๖ เรียกว่า ฉัฏฐสังคายนา เริ่ม ๒๔๙๗ เสร็จใน พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่เมืองย่างกุ้ง มีรัฐบาลพม่า ซึ่งมีนายอูนุ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อุปถัมภ์ ทำ ๓ ปี
– การสังคายนาในไทย
นับในอินเดีย ๓ ครั้ง
นับในศรีลังกา ๔ ครั้ง คือ สมัยพระมหินทเถระ / สมัยพระเจ้าวัฏฏคามิณีอภัย / สมัย พ.ศ. ๙๕๖ พระพุทธโฆษาจารย์ แต่งอรรถกถา อุปถัมภ์โดยพระเจ้ามหานามะ พ.ศ. ๑๕๘๗ มีพระมหากัสสปะ เป็นประธาน ด้วยพระมหาเถระ ๑,๐๐๐ รูป แต่งฎีกา
นับในไทยอีก ๓ ครั้ง คือ
ที่เชียงใหม่ พ.ศ. ๒๐๒๐ สมัยพระเจ้าติโลกราช
ที่กรุงเทพ พ.ศ. ๒๓๓๑ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ที่กรุงเทพ พ.ศ. ๒๕๓๐ สมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
๖. การจารึกและพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย
ก. ฉบับภาษาบาลี
ครั้งที่ ๑ ชำระและจารึกบนใบลาน ด้วยอักษรล้านนา ที่เชียงใหม่ ในสมัยพระเจ้าติโลกราช พ.ศ. -๒๐๒๐
ครั้งที่ ๒ ชำระและจารึกบนใบลาน ด้วยอักษรขอมที่กรุงเทพ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พ.ศ. ๒๓๓๑
ครั้งที่ ๓ ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม ๓๙ เล่ม ด้วยอักษรไทย ที่กรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓/-๒๔๓๖ ฉบับตราแผ่นดิน
ครั้งที่ ๔ ชำระและจัดพิมพ์เป็นเล่ม ๔๕ เล่ม ด้วยอักษรไทย ที่กรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ ๗ พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๓ เรียกว่า ฉบับสยามรัฐ (สยามรฏฺฐ
เตปิฏกํ)
ครั้งที่ ๕ ชำระและจัดพิมพ์ โดยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๓๕ เรียกว่า ฉบับ มหาจุฬาเตปิฏกํ
ครั้งที่ ๖ ปริวรรต และจัดพิมพ์ โดยสมาคมศูนย์ค้นคว้าทางพระพุทธศาสนาวัดสระเกศ และในนามมูลนิธิภูมิพโล ตั้งแต่ ปี ๒๕๐๖ ฉบับนี้ เรียกว่า “ฉบับภูมิพโล”
ครั้งที่ ๗ ชำระและจัดพิมพ์สมัยรัชกาลที่ ๙ พระชนมพรรษา ครบ ๕ รอบ พ.ศ. ๒๕๓๐ เรียกว่า ฉบับ “สังคายนา” (สังคีติ เตปิฏกํ )
ข. ฉบับภาษาไทย
จัดแปลและพิมพ์โดยคณะสงฆ์ไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยการอุปถัมภ์ของรัฐบาลไทย จำนวน ๘๐ เล่ม เรียกว่า พระไตรปิฎกภาษาไทย
จัดพิมพ์ ในปี ครองราชย์ครบ ๒๕ ปี ที่เรียกว่า รัชดาภิเษก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ เรียกว่า พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ปีครองราชย์ ครบ ๕๐ ปี คณะสงฆ์และคณะรัฐบาลได้จัดชำระและพิมพ์ เรียกว่า ฉบับสังคีติเตปิฏกํ เรียกฉบับแปลว่า พระไตรปิฎกแปลฉบับสังคายนา ทั้งหมด ๔๕ เล่ม เล่มละ ๓,๐๐๐ ชุด
มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดการแปลและพิมพ์พระไตรปิฎก และอรรถกถา รวมในเล่มเดียวกัน จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ จำนวน ๙๑ เล่ม
ปี ๒๕๔๒ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จำนวน ๔๕ เล่ม เล่มละ ๖,๐๐๐ ชุด เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในวาระครบ ๖๐ พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นปีเริ่มโครงการ
อานิสงส์การสร้างถวายพระไตรปิฎก
เรื่องจริง ที่ฟังจากคนที่มาซื้อพระไตรปิฎกถวายวัด
ณ ตำหนักสมเด็จวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร วันนี้ มีพระและฆราวาสหลายคน เป็นต้นว่า
พระมหาสุชญา โรจนญาโณ อาจารย์แสวง อุดมศรี
อาจารย์สมพร ประวรรณากร อาจารย์ทศพร ศรีคำ
อาจารย์สมิทธิพล เนตรนิมิตร น.ส. กนกอร ล้ำเลิศ
อาจารย์สินชัย วงษ์จำนงค์
ฯลฯ
หลังจากพระฉันเพลเสร็จแล้ว ช่วงนั้น ได้มีโยมแต่งตัวคล้ายคนบ้านนอก ชาวชนบทสองคน แต่งตัวนุ่งผ้าถุง สวมเสื้อธรรมดา (ความเข้าใจของผู้เรียบเรียง) ขึ้นมาบนตำหนักสมเด็จแล้ว สอบถามเกี่ยวกับพระไตรปิฎก เดินดูหนังสือพระไตรปิฎกบนตำหนัก แล้วก็นั่งลงหมอบกราบพระประธานด้วยเบญจางคประดิษฐ์ บนตำหนักด้วย (ดูมีความศรัทธามากในพระบวรพุทธศาสนา) หลังจากนั้นก็เดินไปเปิดหนังสือพระไตรปิฎกอ่านเป็นบางเล่ม พร้อมกับยกมือสาธุด้วย ครั้นแล้วก็ขอบูชาพระไตรปิฎก ซึ่งผู้เรียบเรียงก็แนะนำให้ติดต่อกับนางสาวกนกอร ล้ำเลิศ (เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน) เพื่อบูชาพระไตรปิฎกจำนวน ๑ ชุด (๑๐,๐๐๐ บาท) ฝ่ายการเงินทางตำหนักสมเด็จ ก็จัดการเขียนใบอนุโมทนาให้เรียบร้อย
ส่วนผู้เรียบเรียงนั้น ก็ได้นำของฝากจากตำหนักสมเด็จเป็นหนังสือ ๒ เล่ม คือ หนังสือเก็บเพชรจากพระไตรปิฎกและหนังสือสูจิบัตร ให้กับคุณโยมทั้งสอง พร้อมกันนั้น ก็ได้ยกหนังสือจำนวน ๓ กล่องลงมาไว้ข้างล่าง ใส่รถเข็นป้ายแดงซึ่งออกใหม่มาเพื่อบริการญาติโยมโดยเฉพาะ เพื่อให้คนเข็นไปส่งคุณโยมทั้งสอง เกิดความเข้าใจผิดกันเล็กน้อย
หลังจากรอคอยทั้งสองอยู่นานแล้ว ผู้เรียบเรียง จึงจักไปเชิญโยมทั้งสอง ซึ่งกำลังนั่งปรึกษาหารือกันอยู่ ตรงที่รับแขก โต๊ะกลาง พอเห็นว่าคุณโยมทั้งสองไม่ได้คุยกันแล้ว ผู้เรียบเรียงจึงเชิญให้คุณโยมทั้งสองเพื่อให้มารับพระไตรปิฎกซึ่งรออยู่ข้างล่าง พอคุณโยมทั้งสองลุกจากที่นั่งแล้ว ก็ไปหมอบกราบพระประธานด้วยเบญจางคประดิษฐ์อีกเช่นเดิม พอลุกมาแล้ว ผู้เรียบเรียงก็เห็นภาพคุณโยมทั้งสอง ซึ่งนั่งอยู่ ในขณะเดียวกันก็ใช้มือทั้งสองนั้น ประคองจับกล่องบรรจุพระไตรปิฎก (กล่องที่ ๑) คนละกล่อง แล้วทำจิตสงบ อธิษฐานจิต ชั่วครู่หนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์ของคุณโยมทั้งสองนั้น ก็ทำให้ผู้เรียบเรียงเกิดความสงสัยจึงถามคุณโยมทั้งสองว่า “จบพระไตรปิฎกหรือ” จ้ะ จบแล้ว จะถวายไว้ที่นี้ เรื่องจึงกระจ่าง ดังนั้น ผู้เรียบเรียง จึงเดินไปหยิบพระไตรปิฎกมาอย่างละ ๒ เล่ม รวม ๖ เล่ม คือ
เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก (มหาวิภังค์)
เล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก (ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค)
เล่มที่ ๓๔ พระอภิธรรมปิฎก (ธัมมสังคณี)
เพื่อให้คุณโยมทั้งสองเอาไว้จบ และกล่าวคำถวาย และถวายเป็นพิธี
มหัศจรรย์พระไตรปิฎก
(คำบอกเล่า โปรดพิจารณาด้วยปัญญาเถิด) หลังจากนั้น ผู้เรียบเรียง จึงนำคุณโยมทั้งสองมายังที่นั่งตามเดิมแล้วก็ให้คุณโยม ทั้งสองกล่าวคำถวาย แต่ก่อนที่จะมาถวายนั้น คุณโยมทั้งสองก็ได้ปรารภเหตุว่า
เนื่องจากพี่สาวของดิฉันทั้งสอง เกิดป่วย ไม่สบาย เป็นไข้หนัก ต้องเข้าโรงพยาบาล (ไม่บอกว่าโรงพยาบาลอะไร)เป็นเวลาหลายวัน เจ็บหนักจวนเจียนจะตายแล้วก็สลบไป พอสลบแล้ว เมื่อรู้สึกตัวขึ้นมา (พี่สาวเล่าให้ฟังว่า) ก็ได้พบสถานที่แห่งหนึ่ง สวยงามมาก น่าเจริญตาเจริญใจยิ่งนัก คล้ายกับเทพวิมานชั้นฟ้าทีเดียว ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคงเป็นสวรรค์ กระมัง แล้วก็มีท่านผู้หนึ่ง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเทพผู้ทรงศักดิ์นำพาข้าพเจ้าไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง พร้อมทั้งผายมือชี้ไปยังตู้พระไตรปิฎก ซึ่งบรรจุพระไตรปิฎกอยู่เต็มตู้หนึ่ง พร้อมกับกล่าวอธิบายให้ข้าพเจ้าฟังว่า นี้คือพระไตรปิฎกพร้อมตู้ ที่เจ้าเคยสร้างไว้ ซึ่งตู้นั้นดูสวยงามมาก ข้าพเจ้าเห็นแล้ว เกิดความรู้สึกปลื้มใจมากในบุญกุศลที่เคยสร้างไว้ ในขณะเดียวกันนั้นเอง ก็ได้ยินเสียงสวดมนต์เกี่ยวกับคำสั่งสอนในพระไตรปิฎก ของเหล่าผู้มีรูปร่างหน้าตาผิวพรรณงดงาม ละเอียด ประณีตยิ่งนัก เสียงสวดมนต์ของท่านเหล่านั้นไพเราะมาก จับใจจริง ๆ ซึ่งทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกปีติยินดีเป็นยิ่งนัก ข้าพเจ้าได้ฟังเสียงสวดนั้น ก็ยกประนมมือตามท่านเหล่านั้นไปด้วย แต่ได้เพียงครู่เดียวเท่านั้น ครั้นแล้ว ท่านผู้นั้น ก็นำข้าพเจ้าไปเที่ยวดูเที่ยวชมอีกหลายแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งนั้น ล้วนแต่งดงาม ตระการตายิ่งนัก จัดเป็นรมณียสถานน่ารื่นรมย์ใจจริง ๆ ซึ่งข้าพเจ้าดูแล้ว ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกปลาบปลื้มยินดีเป็นยิ่งนัก นับเป็นเวลานานพอสมควรในความรู้สึกของข้าพเจ้า ครั้นแล้ว ท่านผู้นั้น ก็ได้สั่งลูกน้องบริวารผู้หนึ่ง ให้นำข้าพเจ้ากลับ เมื่อลูกน้องรับเทวบัญชาแล้ว ก็พาข้าพเจ้ามา ข้าพเจ้าก็เดินตามท่านผู้นั้นมาเรื่อย ๆ จนข้าพเจ้ารู้สึกตัว ตื่นขึ้นมาก็เจอญาติพี่น้องทั้งหลายแล้ว ก็ได้เล่าเรื่องนี้ให้ญาติพี่น้องฟังโดยทั่วกัน ซึ่งในจำนวนนั้น ก็มีคุณโยมทั้งสองอยู่ด้วย (ซึ่งคุณโยมทั้งสอง ก็ได้เล่าเรื่องดังกล่าวนี้ ให้ผู้เรียบเรียงได้ฟังอีกทอดหนึ่ง, ผิดพลาดประการใด ก็ต้องขออภัยต่อคุณโยมทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์มาก ทำให้ผู้เรียบเรียง ประสงค์จะถ่ายทอดไว้ เพื่อให้ผู้มาสร้างพระไตรปิฎกได้ฟังบ้าง เพื่อให้ท่านเหล่านั้น พอได้ฟังแล้ว ก็จะได้ดูตัวอย่างในเรื่องนี้ประกอบ อย่างน้อย ๆ ก็ทำให้เห็นว่า การสร้างพระไตรปิฎกนั้น มีผลมากทั้งในชาตินี้ และในชาติหน้า ดังเรื่องพี่สาวของคุณโยมทั้งสองนี้)
หลังจากคุณโยมทั้งสองเล่าเรื่องนี้ให้ฟังแล้ว ผู้เรียบเรียงก็ให้คุณโยมทั้งสองกล่าวคำถวายพระไตรปิฎก โดยให้ว่า นโม ๓ จบ นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส (ว่า ๓ จบ) แล้วผู้เรียบเรียง ให้คุณโยมทั้งสองว่าตาม ดังต่อไปนี้
คำกล่าวถวายพระไตรปิฎก
มะยัง ภันเต อิมัง สะปะริวารัง เตปิฏะกัง มะหาเถเรหิ ยุตตัปปะยุตตัง ธัมมิกัง ธัมมะลัทธัง จาตุททิสัสสะ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมัง สะปะริวารัง เตปิฏะกัง มะหาเถเรหิ ยุตตัปปะยุตตัง ธัมมิกัง ธัมมะลัทธัง ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งคัมภีร์พระไตรปิฎก อันพระมหาเถระทั้งหลาย ชำระสอบทานแล้ว อันเกิดขึ้นโดยชอบธรรม อันได้มาโดยชอบธรรม พร้อมทั้งบริวารนี้แก่พระภิกษุสงฆ์ผู้มีในทิศทั้ง๔ขอพระภิกษุสงฆ์ จงรับซึ่งคัมภีร์พระไตรปิฎก อันพระมหาเถระทั้งหลาย ชำระสอบทานแล้ว อันเกิดขึ้นโดยชอบธรรม อันได้มาโดยชอบธรรม พร้อมทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขความเจริญ แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญฯ
ต่อจากนั้น ผู้เรียบเรียง ก็รับประเคนรับพระไตรปิฎก ทั้ง ๓ ปิฎก ๆ ละหนึ่ง ๒ ชุด รวม ๖ เล่ม แล้วก็กล่าวอนุโมทนาสาธุต่อคุณโยมทั้งสองที่ได้สร้างพระไตรปิฎก ไว้ในบวรพระพุทธศาสนา ด้วยอานุภาพแห่งการสร้างพระไตรปิฎกถวายครั้งนี้ ขอให้คุณโยมทั้งสอง ไม่ว่าจะเกิดในชาติใด ภพใด ขอให้มีปัญญามาก เฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง ทรงจำพระไตรปิฎกไว้ได้ทุกภพทุกชาติเทอญ
“ไม่หรอกจ้ะ” คุณโยมคนหนึ่งกล่าว
“ดิฉันเกิดศรัทธาอยากจะสร้างพระไตรปิฎกถวายวัดเมื่อได้ฟังคำบอกเล่าของพี่สาวอยากจะได้บุญกุศลเช่นนั้นบ้างจึงชักชวน รวบรวมเงินกันมาทำบุญ”
“พี่สาวของคุณโยม ยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า” ผู้เรียบเรียงถาม
“ยังมีชีวิตอยู่ และยังทำบุญทำกุศลมากกว่าแต่ก่อนอีกด้วย”
“ขอให้ความปรารถนาของคุณโยมทั้งสอง จงสำเร็จตามความปรารถนาเถิด” ผู้เรียบเรียงกล่าว
“สาธุ จ้ะ”
หลังจากนั้น ผู้เรียบเรียงก็ให้พรคุณโยมทั้งสองเป็นภาษาบาลีว่า
ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรนฺติ สาครํ
เอวเมว อิโต ทินฺนํ เปตานํ อุปกปฺปติ
อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุมฺหํ ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ
สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา จนฺโท ปณฺณรโส ยถา
มณิ โชติรโส ยถาฯ
สพฺพีติโย วิวชฺชนฺตุ สพฺพโรโค วินสฺสตุ
มา เต ภวตฺวนฺตราโย สุขี ทีฆายุโก ภว
สพฺพีติโย วิวชฺชนฺตุ สพฺพโรโค วินสฺสตุ
มา เต ภวตฺวนฺตราโย สุขี ทีฆายุโก ภว
สพฺพีติโย วิวชฺชนฺตุ สพฺพโรโค วินสฺสตุ
มา เต ภวตฺวนฺตราโย สุขี ทีฆายุโก ภว
อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน
จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ ฯ
สพฺพพุทฺธานุภาเวน สพฺพธมฺมานุภาเวน สพฺพสงฺฆานุภาเวน พุทฺธรตนํ ธมฺมรตนํ สงฺฆรตนํ ติณฺณํ รตนานํ อานุภาเวน จตุราสีติสหสฺสธมฺมกฺขนฺธานุภาเวน ปิฏกตฺตยานุภาเวน ชินสาวกานุภาเวน สพฺเพ เต โรคา สพฺเพ เต ภยา สพฺเพ เต อนฺตรายา สพฺเพ เต อุปทฺทวา สพฺเพ เต ทุนฺนิมิตฺตา สพฺเพ เต อวมงฺคลาวินสฺสนฺตุ อายุวฑฺฒโก ธนวฑฺฒโก สิริวฑฺฒโก ยสวฑฺฒโก พลวฑฺฒโก วณฺณวฑฺฒโก สุขวฑฺฒโก โหตุ สพฺพทา
ทุกฺขโรคภยา เวรา โสกา สตฺตุ จุปทฺทวา
อเนกา อนฺตรายาปิ วินสฺสนฺตุ จ เตชสา
ชยสิทฺธิ ธนํ ลาภํ โสตฺถิ ภาคฺยํ สุขํ พลํ
สิริ อายุ จ วณฺโณ จ โภคํ วุฑฺฒี จ ยสวา
สตวสฺสา จ อายู จ ชีวสิทฺธี ภวนฺตุ เตฯ
ภวตุ สพฺพมงฺคลํ รกฺขนฺตุ สพฺพเทวตา
สพฺพพุทฺธานุภาเวน สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต
ภวตุ สพฺพมงฺคลํ รกฺขนฺตุ สพฺพเทวตา
สพฺพธมฺมานุภาเวน สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต
ภวตุ สพฺพมงฺคลํ รกฺขนฺตุ สพฺพเทวตา
สพฺพสงฺฆานุภาเวน สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต ฯ
เสร็จแล้ว คุณโยมทั้งสอง ก็หมอบกราบผู้เรียบเรียงด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง ในขณะเดียวกันนั้นเอง อาจารย์แสวง อุดมศรี ก็ได้นำเหรียญ ร. ๕ (ด้านหน้าเป็นรูปรัชกาลที่ห้า ครึ่งองค์ ด้านหลัง สมโภชพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาจุฬา-ลงกรณราชวิทยาลัย ๖ พ.ย.๒๕๔๒) ซึ่งแจกในงานสมโภชพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในวันที่ ๖-๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ผ่านมา มามอบให้แก่ผู้เรียบเรียง ๒ เหรียญ เพื่อมอบให้แก่คุณโยมทั้งสอง ซึ่งผู้เรียบเรียง ก็ได้มอบให้คุณโยมทั้งสอง
ก่อนจะกลับ คุณโยมทั้งสองได้ปรึกษากัน แล้วก็ได้ถวายปัจจัยแก่ผู้เรียบเรียงจำนวนหนึ่ง แล้วลากลับ ซึ่งผู้เรียบเรียงก็ได้เดินมาส่งคุณโยมทั้งสองที่ประตูตำหนักสมเด็จด้วย
เสร็จพิธีการถวายพระไตรปิฎกครั้งนี้ เมื่อเวลา ๑๒.๒๙ น.
(เมื่อกลับมายังที่นั่งแล้ว ผู้เรียบเรียงเห็นปัจจัยที่โยมถวายแล้ว ก็ได้ตั้งเจตนาไว้ว่า ถ้าผู้เรียบเรียงมีโอกาส ก็จะพิมพ์เรื่องที่ได้ฟังจากคุณโยมทั้งสองนี้ ไว้แจกจ่ายแก่ญาติโยม ผู้มาสร้างพระไตรปิฎกสืบต่อไป และวันนี้ เจตนาที่ผู้เรียบเรียงได้ตั้งไว้นั้นสำเร็จแล้ว ดังที่ตั้งใจไว้ทุกประการ)
พระไตรปิฎก คืออะไร
พระไตรปิฎก คือคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนาที่พระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนใช้ศึกษาเล่าเรียน เพื่อให้รู้ทั่วถึงพระธรรมวินัย และปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างถูกต้อง โดยความ ก็คือ
๑. พระปริยัติสัทธรรม คือพระวินัยคำสั่งและพระธรรมคำสอน
๒. พระปฏิบัติธรรม ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา
๓. พระปฏิเวธธรรม ได้แก่ มรรค ผล นิพพาน
พระไตรปิฎก ฉบับต่าง ๆ ในประเทศสยาม/ไทย
พระไตรปิฎก ในประเทศไทย มีหลายฉบับ จัดทำในเวลาและสถานที่แตกต่างกัน กล่าวคือ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงอาราธนาพระสงฆ์ ๒๑๘ รูป ราชบัณฑิต ๓๒ คนให้ชำระพระไตรปิฎก ซึ่งกระจัดกระจายสูญหาย ภายหลังกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผาทำลาย การสังคายนาครั้งนี้จัดทำขึ้น ณ วัดศรีสรรเพชญ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหารในปัจจุบัน) อักษรที่ใช้จารึกพระไตรปิฎกในครั้งนั้นเป็นอักษรขอม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้า ฯ ทรงให้คัดลอกพระไตรปิฎกอักษรขอมในใบลานเป็นอักษรไทยแล้วชำระแก้ไขและพิมพ์ขึ้นเป็นเล่ม หนังสือได้ ๓๙ เล่ม นับเป็นครั้งแรกในประเทศสยาม ที่ได้มีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นรูปเล่มหนังสือด้วยอักษรไทย ฉบับนี้ เรียกว่า “ไตรปิฎก ฉบับตราแผ่นดิน” ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๔๓๖
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงให้ชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มหนังสือได้ ๔๕ เล่ม เรียกว่า พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ และพิมพ์ที่มหามกุฏราชวิทยาลัย ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๓ เป็นลิขสิทธิของมหามกุฏวิทยาลัยอีกด้วย
เมื่อยี่สิบห้าพุทธศตวรรษที่ผ่านมา ในรัชสมัยรัชกาลปัจจุบัน คณะสงฆ์ได้ แปลพระไตรปิฎก ภาษาบาลีเป็นภาษาไทย และให้จัดพิมพ์เป็นการฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นเล่มหนังสือภาษาไทย ๘๐ เล่ม ในการพิมพ์ครั้งต่อมาได้รวมเล่มลดจำนวนเหลือ ๔๕ เล่มเท่ากับฉบับภาษาบาลี ฉบับนี้ เรียกว่า “พระไตรปิฎก ฉบับหลวง”
ต่อมา คณะสงฆ์และรัฐบาลไทย ได้จัดงานสังคายนาพระธรรมวินัยตรวจชำระพระไตรปิฎก ทั้งฉบับภาษาบาลีและฉบับภาษาไทย แล้วจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ เรียกว่า พระไตรปิฎก ฉบับสังคีติ หรือฉบับสังคายนา ใน พ.ศ. ๒๕๓๐ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ
ก่อนหน้านั้น (ในการฉลอง๒๕๐๐ปีแห่งพระพุทธศาสนา) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทราบว่า มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดให้มีการตรวจชำระสอบทานและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษามคธฉบับมหาจุฬาเตปิฎก ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยให้ยกพระสูตร ตั้งข้อ ย่อหน้า ให้ชัดเจน ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้เป็นคัมภีร์สำหรับศึกษาเล่าเรียนสืบไป ดังนี้แล้ว ก็ทรงมีมหากุศลจิต มีพระราชศรัทธาบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างพระไตรปิฎกภาษามคธฉบับมหาจุฬาเตปิฎก จำนวนหนึ่งนับเป็นทุนเริ่มแรกในการพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับนี้ด้วย ในเรื่องนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ทั้ง ๒ พระองค์ได้ทรงเจริญพระศรัทธา มีพระราชประสงค์บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างพระไตรปิฎกภาษามคธ ฉบับนี้ด้วย นอกจากนี้ พุทธบริษัทที่มีจิตศรัทธาตามรอยพระยุคลบาท ได้ดำเนินการจัดพิมพ์ร่วมด้วยจนครบเสร็จ ๔๕ เล่มในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ฉบับนี้ เรียกว่า “พระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับ มหาจุฬาเตปิฏกํ”
และเมื่อมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ดำเนินการการแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลี เป็นภาษาไทย โคยตั้งคณะกรรมการหลายชุดรับิดชอบด้วยกัน โดยใช้เวลาดำเนินการแปลจัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือเป็นระยะเวลา ๕ ปี ๒ เดือน ๑๐ วัน จนสำเร็จเป็นเล่มหนังสือพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และฉบับนี้เรียกว่า พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลง กรณราชวิทยาลัย นับว่าเป็นฉบับล่าสุด และทันสมัย เป็นฉบับที่คนสมัยเก่าก็อ่านได้ คนสมัยใหม่ก็อ่านดี และเป็นฉบับที่นักปราชญ์ราชบัณฑิตยอมรับมากเล่มหนึ่ง ในจำนวนนั้น พระกิตติวุฑโฒภิกขุ ได้กล่าวกับอาจารย์แสวงไว้ตอนหนึ่งอย่างน่าฟังว่า พระไตรปิฎกฉบับนี้ ดีมาก เยี่ยมมาก คงจะไม่มีหน่วยงานใดทำได้อย่างนี้ ที่จะแปลและทำได้ดีขนาดนี้ ถึงจะทำได้ก็คงต้องใช้เวลานาน ถึงจะดีได้เท่านี้
พระไตรปิฎกนี้ เพียงแค่ได้ฟัง ไม่ได้สร้างถวายก็ขึ้นสวรรค์ได้
พระไตรปิฎกนี้ แม้จะไม่ได้เป็นผู้สร้าง เพียงแต่ได้ฟังคำสวดด้วยความศรัทธาเลื่อมใส ก็ยังมีอานิสงส์ทำให้ขึ้นไปเกิดบนสวรรค์ได้ ในเรื่องนี้ มีกล่าวไว้ในธรรมบท กล่าวคือ ผู้ฟังสวดสาธยายพระอภิธรรมแม้ไม่รู้เรื่องก็ได้อานิสงส์มากมายเช่น มีเรื่องเล่าถึงบุพกรรมของพระภิกษุสัทธิวิหาริก ๕๐๐ ของท่านพระสารีบุตร ว่าในชาติก่อน ท่านเหล่านั้นเป็นนกค้างคาวเล็ก ๕๐๐ ตัว พากันห้อยหัวอยู่ ณ ที่เงื้อมภูเขาแห่งหนึ่ง ในสมัยพุทธกาลของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ยินเสียงพระภิกษุผู้ทรงพระอภิธรรม ๒ รูป สวดสาธยายพระอภิธรรมปิฎก (ซึ่งเป็นหนึ่งในสามปิฎก) กันอยู่ ก็ถือเพียงนิมิตในเสียง แต่ไม่รู้ความหมายว่าเป็นธรรมฝ่ายดำ (อกุสลา ธมฺมา) หรือ ธรรมฝ่ายขาว(กุสลา ธมฺมา) เพียงแต่ถือเอานิมิตในเสียงสวดสาธยายเท่านั้น ครั้นสิ้นชีวิตแล้ว ก็พากันไปเกิดในเทวโลก และอยู่ในเทวโลกตลอดกาล ๑ พุทธันดร ครั้นในพุทธกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้ ได้ลงมาบังเกิดในมนุษยโลก และเลื่อมใสในยมกปาฏิหาริย์ จึงพากันมาบวชในสำนักของท่านพระสารีบุตรเถระ ครั้นท่านพระสารีบุตรเถระได้ฟังพระอภิธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ป่าไม้จันทน์แล้ว ได้นำเอาพระอภิธรรมที่ฟังมาๆ มาแสดงต่อแก่พระภิกษุสัทธิวิหาริก ๕๐๐ ของท่านนั้น ให้สาธยายทรงจำไว้ ๆ จนจบครบ ๗ ปกรณ์ ในที่สุด พระภิกษุสัทธิวิหาริก ๕๐๐ รูปของท่านพระสารีบุตรเถระ ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล
ในเรื่องอย่างนี้ จัดเป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล บังคับกันไม่ได้ บางคนอาจจะเชื่อ บางคนอาจจะไม่เชื่อ คนที่เชื่อก็ชื่อว่าเป็นคนที่มีมหากุศลจิต คำว่า มหากุศลจิต หมายความว่า จิตที่ไม่มีโทษ และให้ผลเป็นความสุข และสามารถให้ผลเกิดขึ้นมากกว่าตน ทั้งเป็นเบื้องต้นของฌาน อภิญญา มรรค ผล มหากุศลจิต มี ๘ ดวง ซึ่งประกอบไปด้วย
๑. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
๒. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
๓. โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
๔. โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
๕. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
๖. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
๗. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
๘. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
คำแปล
๑. จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยปัญญา
๒. จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยปัญญา
๓. จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ไม่ประกอบด้วยปัญญา
๔. จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ไม่ประกอบด้วยปัญญา
๕. จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ประกอบด้วยปัญญา
๖. จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ประกอบด้วยปัญญา
๗. จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา
๘. จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา
ซึ่งมหากุศลจิต แต่ละดวงนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็จะส่งให้เรานั้น ได้รับผลหรือวิบากที่ดีเป็นการตอบแทน แต่จะเกิดขึ้นเป็นมหากุศลจิตดวงไหนนั้น ก็อยู่ที่ระดับสติปัญญาของแต่ละคน ถ้าเป็นมหากุศลจิตดวงที่ ๑ ก็ชื่อว่าเป็นมหากุศลที่มีพลังมากกว่าทุกดวง
ส่วนผู้ที่ไม่เชื่อนั้นก็ไปว่ากล่าวอะไรได้เพียงแต่นำให้ท่านทั้งหลาย ได้พิจารณา ได้อ่านเท่านี้ ผู้รวบรวมและเรียบเรียงก็เกิดความพอใจ ปลื้มใจเป็นที่สุด ขอขอบพระคุณ ด้วยความปรารถนาดี
ที่มา… http://www.dhammathai.org/webboard/dbview.php?No=498&fbclid=IwAR0s_rQsC_GcM1xgPMNN_mlqT5jK8G5frRuIwt34Z5zv3-gEfrm_O_svlQE
สถาบันพระไตรปิฎกศึกษา