265 รวมเข้าชม,  1 เข้าชมวันนี้

]

ประกาศมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

เรื่อง การสรรหา การคัดเลือก และการทดลองปฏิบัติงาน พ.ศ. ๒๕๔๒

———————–

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟเพื่อให้การบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการสรรหา การคัดเลือก และการทดลองปฏิบัติงาน ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพบรรลุวัตถุประสงค์และนโยบายของมหาวิทยาลัย

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟอาศัยอำนาจตามความในข้อ ๒๒ ข้อ ๒๓ และข้อ ๒๔ แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๔๑ และมติคณะกรรมการ บริหารงานบุคคล ในคราวประชุมครั้งที่ ๖/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ จึงออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ การแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา

ᅟᅟᅟᅟข้อ ๑ ให้อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารงานบุคคลเป็นผู้แต่งตั้ง คณะกรรมการสรรหามีจำนวนไม่น้อยกว่าห้ารูปหรือคน แต่ไม่เกินเจ็ดรูปหรือคน โดยมีผู้แทนหน่วย งานที่จะบรรจุบุคลากรไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งร่วมเป็นกรรมการด้วย และเมื่อดำเนินการเสร็จแล้วให้รายงานผลต่ออธิการบดี

ข้อ ๒ การสรรหา และการคัดเลืกบุคลากร ประเภทตำแหน่งวิชาการ

ᅟᅟᅟᅟข้อ ๒ การสรรหา และการคัดเลือกบุคลากร ประเภทตำแหน่งวิชาการ ให้ดำเนินการ โดยมีวิธีการและขั้นตอนการดำเนินการดังต่อไปนี้

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟ๒.๑ การคัดเลือก ประเภทตำแหน่งวิชาการในระดับแรกเข้า มี ๓ ขั้นตอน

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟขั้นตอนที่ ๑ ให้ดำเนินการพิจารณาประเมินคุณวุฒิการศึกษา ผลการศึกษา ประสบการณ์ ผลงานทางวิชาการ และสาขาวิชาของผู้สมัคร ให้ตรงกับลักษณะงานวิชาการของตำแหน่งที่จะบรรจุ

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟกรณีที่ผู้สมัครมีคุณวุฒิปริญญาโท ให้พิจารณาถึงศักยภาพที่จะไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นด้วย

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟขั้นตอนที่ ๒ เมื่อผู้สมัครผ่านขั้นตอนที่ ๑ แล้ว ให้ดำเนินการสัมภาษณ์เพื่อ พิจารณาความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ เช่น ทัศนคติ ความสนใจ ความจริงจัง การแสดงออก มนุษยสัมพันธ์ และบุคลิกภาพอื่น ๆ เป็นต้น

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟขั้นตอนที่ ๓ เมื่อผู้สมัครผ่านขั้นตอนที่ ๒ แล้ว ให้ดำเนินการจัดให้มีการทดสอบเชิงปฏิบัติการ เพื่อพิจารณาประเมินศักยภาพในด้านต่าง ๆ ดังนี้

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟ๑. ความสามารถด้านการสอน เช่น มีการวางแผนการสอนอย่างมีระบบ มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ และประเมินผลการเรียน

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟ๒. ความสามารถด้านวิชาการ เช่น มีความรู้กว้างขวางในสาขาวิชาที่เกี่ยว ข้อง มีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับสาขาวิชาที่สอน มีศักยภาพทที่จะเป็นนักวิชาการที่ดี

ᅟᅟᅟᅟ๒.๒ การสรรหาและการคัดเลือกบุคลากร ประเภทตำแหน่งวิชาการ ที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความชำนาญพิเศษ ตามนัยข้อ ๒๔ แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๔๑ ให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

ᅟᅟᅟᅟᅟ(๑) คุณวุฒิ ต้องเป็นผู้ที่ได้มีวุฒิตั้งแต่ปริญญาโทหรือเทียบเท่าขึ้นไป และได้ศึกษาอบรมหรือปฏิบัติงานในสาขาวิชาการหรือวิชาชีพที่มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องใช้ภายหลังจาก ได้ปริญญาดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี จนมีความรู้ ความสามารถและความชำนาญเป็นพิเศษ รายนาม ในกรณีผู้ที่มีคุณวุฒิต่ำกว่าปริญญาโทหรือเทียบเท่า หรือผู้ที่ไม่มีคุณวุฒิใด ๆ แต่มีความสามารถและความชำนาญสูงมากเป็นพิเศษ ในสาขาวิชาการ หรือวิชาชีพที่มหาวิทยาลัย จำเป็นต้องใช้ ให้พิจารณาเป็นกรณีพิเศษเป็นราย ๆ ไป

ᅟᅟᅟᅟᅟ(๒) วิธีการคัดเลือก ให้คณะกรรมการสรรหา ดำเนินการตามข้อ ๒.๑ หรือ วิธีการอื่นที่คณะกรรมการบริหารงานบุคคลกำหนด

ᅟᅟᅟᅟᅟ(๓) การกำหนดเงินเดือนและการทดลองปฏิบัติงานให้พิจารณาจากประสบการณ์ หรือความชำนาญงานที่ตรงกับความต้องการของมหาวิทยาลัย โดยอาจพิจารณา กำหนดเงินเดือนตามคุณวุฒิขั้นสูงสุดที่ผู้นั้นได้รับมาก่อนแล้ว อาจเพิ่มให้อีกไม่ต่ำกว่าปีละ ๑ ขั้น ตามประสบการณ์การปฏิบัติงานในสาขาวิชาชีพนั้น ๆ ภายหลังจากที่ได้รับคุณวุฒิขั้นสูงสุดมาแล้ว โดยให้มีการทดลองปฏิบัติงาน มีสัญญาจ้างทดลองการปฏิบัติงานหนึ่งปี

ᅟᅟᅟᅟᅟในกรณีผู้มีประสบการณ์และมีความชำนาญสูงมากเป็นพิเศษ ให้บรรจุในฐานะ ผู้ทรงคุณวุฒิ ในตำแหน่งและอัตราเงินเดือนที่สูงกว่าที่กำหนดไว้ในวรรคก่อน โดยไม่ต้องมีการ ทดลองการปฏิบัติงานก็ได้

ข้อ ๓

ᅟᅟᅟᅟข้อ ๓  การสรรหา และการคัดเลือกบุคลากร ประเภทตำแหน่งวิชาชีพและบริหารทั่วไป และลูกจ้างประจำ ให้ดำเนินการโดยวิธีการดังต่อไปนี้

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟ๓.๑ การสอบแข่งขัน ให้ใช้ในกรณีระดับแรกเข้า โดยให้กำหนดหลักสูตรการสอบ แข่งขันไว้ ๒ ภาค พร้อมทั้งเกณฑ์การตัดสิน การขึ้นบัญชีและการยกเลิกบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ดังนี้ ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟ๓.๑.๑ ภาคการสอบข้อเขียน (๓๐๐ คะแนน) ให้ทดสอบความรู้ความสามารถดังต่อไปนี้ โดยวิธีสอบข้อเขียน โดยคํานึง ถึงระดับความรู้ความสามารถที่ต้องการของตำแหน่ง ตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ในแต่ละระดับ ดังมีรายวิชาที่จะสอบดังนี้

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟ(๑) วิชาความรู้ความสามารถทั่วไป (๑๐๐ คะแนน) ตำแหน่งทางธุรการและบริหารทั่วไป ให้ทดสอบความสามารถในการศึกษา หรือสรุปเหตุผลทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคม หรือให้แสดงแนวโน้ม หรือความเปลี่ยนแปลง วิเคราะห์และสรุปเหตุผล โดยการให้จับประเด็นในข้อความหรือเรื่องราวหรือไหว้เคราะห์เหตุการณ์ ที่น่าจะเป็นไปตามข้อมูล หรือสมมุติฐาน หรือให้ศึกษาวิเคราะห์และสรุปเหตุผลโดยการอย่างอื่น ซึ่งเหมาะสมแก่การทดสอบความสามารถดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างก็ได้ กำหนดคะแนนเต็ม ๕๐ คะแนน และให้ทดสอบความรู้ความสามารถการใช้ภาษาไทย กำหนดคะแนน

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟตำแหน่งทางด้านวิชาชีพเฉพาะนั้น คณะกรรมการสรรหา อาจกำหนดวิชาอื่นให้สอบเป็นการทดแทนได้ตามความเหมาะสม คะแนนรวมต้องไม่เกิน ๑๐๐ คะแนน

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟ(๒) วิชาความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง (๒๐๐ คะแนน) ให้ทดสอบความรู้ความสามารถที่ใช้ในการปฏิบัติงานในหน้าที่ โดยเฉพาะ ตามที่ระบุไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง โดยวิธีสอบข้อเขียนหรือให้ทดลองปฏิบัติงาน หรือวิธีอื่น วิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธีก็ได้ตามความเหมาะสม กำหนดคะแนนเต็ม ๒๐๐ คะแนน ทั้งนี้ จะรวม สอบเป็นวิชาเดียวหรืออย่างเดียว หรือแยกสอบเป็นหลายวิชาหรือหลายอย่าง โดยกำหนดคะแนนเต็มแต่ละวิชาหรือแต่ละอย่างได้ตามที่คณะกรรมการสรรหาเห็นเหมาะสมรับสมัครด้วย

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟเมื่อจะทดสอบความรู้ความสามารถในทางใดและวิธีใด ให้ระบุไว้ในประกาศรับสมัครด้วย

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟ๓.๑.๒ ภาคการประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง (๑๐๐ คะแนน)

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟ(๑) ให้พิจารณาความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ เช่น เจตคติ ความสนใจ ความจริงจัง การแสดงออก มนุษยสัมพันธ์และบุคลิกภาพอื่น ๆ โดยการสัมภาษณ์

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟ(๒) ให้ทดสอบการปฏิบัติงานตามกิจกรรมที่คณะกรรมการสรรหากำหนด การตัดสินว่าผู้ใดเป็นผู้สอบแข่งขันได้ให้ถือเกณฑ์ว่าต้องเป็นผู้สอบได้คะแนน ในแต่ละภาคที่สอบตามหลักสูตร ไม่ต่ำกว่าร้อยละห้าสิบและได้คะแนนรวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ หกสิบ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงหลักเกณฑ์วิชาการวัดผลด้วย

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟการขึ้นบัญชีและการยกเลิกบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการบริหารงานบุคคลกำหนด

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟ๓.๒ ในกรณีที่ต้องการเจ้าหน้าที่ในสาขาที่ขาดแคลน ตามที่คณะกรรมการบริหาร งานบุคคลกำหนด ให้คณะกรรมการสรรหา ดำเนินการดังนี้

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟขั้นตอนที่ ๑ ให้ดำเนินการพิจารณาประเมินคุณวุฒิการศึกษา ผลการศึกษา ประสบการณ์ สาขาวิชาที่ศึกษาให้ตรงกับลักษณะงานและตำแหน่งที่จะบรรจุ ทั้งนี้ อาจดำเนินการโดยตรงกับสถานศึกษาที่ผลิตก็ได้

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟขั้นตอนที่ ๒ เมื่อผู้สมัครผ่านขั้นตอนที่ ๑ แล้ว ให้ดำเนินการสัมภาษณ์เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ เช่น เจตคติ ความสนใจ ความจริงจัง การแสดงออก มนุษยสัมพันธ์ และบุคลิกภาพอื่น ๆ เป็นต้น

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟขั้นตอนที่ ๓ เมื่อผู้สมัครผ่านขั้นตอนที่ ๒ แล้วให้ดำเนินการทดสอบตามกิจกรรมที่คณะกรรมการสรรหากำหนด

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟ๓.๓ ในกรณีที่ต้องการบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์หรือ ความชำนาญพิเศษ ตามนัยข้อ ๒๔ แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๔๑ ให้คณะกรรมการสรรหา พิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังนี้

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟ(๑) คุณวุฒิ ต้องเป็นผู้ที่ได้รับปริญญาตั้งแต่ปริญญาตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไป และได้ศึกษาอบรมหรือปฏิบัติงานในสาขาวิชาการ หรือวิชาชีพที่มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องใช้ภาย หลังจากได้ปริญญาดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี จนมีความรู้ ความสามารถ และความชำนาญงานเป็นพิเศษ

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟในกรณีผู้ที่มีคุณวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือผู้ที่ไม่มีคุณวุฒิใด ๆ แต่มีความสามารถและความชำนาญสูง ในสาขาวิชาการหรือวิชาชีพที่มหาวิทยาลัยจำเป็น ต้องใช้ ให้พิจารณาเป็นกรณีพิเศษเป็นราย ๆ ไป

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟ(๒) วิธีการคัดเลือก ให้คณะกรรมการสรรหา ดำเนินการตามข้อ ๖.๑ หรือ ๖.๒ หรือวิธีการอื่นที่คณะกรรมการสรรหากำหนด

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟ(๓) การกำหนดเงินเดือนและการทดลองปฏิบัติงาน ให้พิจารณาจาก ประสบการณ์ หรือความชำนาญงานที่ตรงกับความต้องการของมหาวิทยาลัย โดยอาจพิจารณา กำหนดเงินเดือนตามคุณวุฒิขั้นสูงสุดที่ผู้นั้นได้รับมาก่อนแล้วอาจเพิ่มให้อีกไม่ต่ำกว่าปีละ ๑ ขั้น ตามประสบการณ์การปฏิบัติงานในสาขาวิชาชีพนั้น ๆ ภายหลังจากที่ได้รับคุณวุฒิสูงสุดมาแล้ว โดย ให้มีการทดลองปฏิบัติงาน มีสัญญาจ้างทดลองการปฏิบัติงานหนึ่งปี

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟในกรณีผู้มีประสบการณ์และมีความชำนาญสูงมาก ให้บรรจุในฐานะผู้ทรง คุณวุฒิในตำแหน่งและอัตราเงินเดือนที่สูงกว่าที่กำหนดไว้ในวรรคก่อน โดยไม่ต้องมีการทดลองการปฏิบัติงานก็ได้

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง อาจกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมให้ สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อให้เหมาะสมกับการสรรหา และการคัดเลือกบุคลากรเป็น กรณี ๆ ไปได้

ข้อ ๔

ᅟᅟᅟᅟข้อ ๔ ให้อธิการบดี หรือผู้ที่อธิการบดีมอบหมาย เป็นผู้ดำเนินการประกาศรับสมัครและประกาศผล

ข้อ ๕

ᅟᅟᅟᅟข้อ ๕  ให้บุคลากรผู้ผ่านการสรรหา และการคัดเลือก ทดลองการปฏิบัติงาน โดยมี สัญญาจ้าง ส่วนระยะเวลาทดลองการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามประกาศนี้

ข้อ ๖

ᅟᅟᅟᅟข้อ ๖  บุคลากรผู้ผ่านกระบวนการสรรหา และการคัดเลือก ในระดับแรกเข้า ตามความ ในข้อ ๒๓ แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๔๑ ประเภทตำแหน่งวิชาการ จะต้องทดลองการปฏิบัติงานโดยได้รับเงินเดือนเต็ม มีกำหนดระยะเวลา ดังนี้

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟ๖.๑ สัญญาเป็นเวลาหนึ่งปี หรือตามระยะเวลาในสัญญาจ้างที่คณะกรรมการบริหารงานบุคคลกำหนด แต่ทั้งนี้ต้องไม่น้อยกว่าหกเดือนขึ้นไป

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟ๖.๒ ตามระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง

ᅟᅟᅟᅟᅟᅟᅟในระหว่างการทดลองปฏิบัติงาน หากบุคลากรประเภทตำแหน่งวิชาการบุคคล ใด ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ได้แก่ ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ หรือศาสตราจารย์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่มหาวิทยาลัยกำหนดจะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นบุคลากรประจำ นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการนั้น

ข้อ ๗

ᅟᅟᅟᅟข้อ ๗  บุคลากรผู้ผ่านกระบวนการสรรหา และการคัดเลือกในระดับแรกเข้า ตามความใน พ.ศ. ๒๕๔๑ ประเภทตำแหน่งปฏิบัติการวิชาชีพและบริหารทั่วไป จะต้องทดลองการปฏิบัติงาน ข้อ ๒๓ แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล โดยได้รับเงินเดือนเต็มเป็นเวลาหนึ่งปี หรือตามระยะเวลาในสัญญาจ้างที่คณะกรรมการบริหารงานบุคคลกำหนด แต่ทั้งนี้ต้องไม่น้อยกว่าหกเดือนขึ้นไป

ข้อ ๘

ᅟᅟᅟᅟข้อ ๘  บุคลากรผู้ผ่านกระบวนการสรรหา และการคัดเลือก ตามความในข้อ ๒๔ แห่ง ข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๔๑ ว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ หรือความชำนาญ อธิการบดีโดยความเห็นชอบ ของคณะกรรมการบริหารงานบุคคลอาจพิจารณาให้มีการทดลองปฏิบัติงาน หรือไม่ก็ได้ตามที่เห็นสมควรเป็นกรณี ๆ ไป

ข้อ ๙

ᅟᅟᅟᅟข้อ ๙  ให้อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารงานบุคคลแต่งตั้ง คณะกรรมการประเมิน จำนวนไม่น้อยกว่าห้ารูปหรือคน แต่ไม่เกินเจ็ดรูปหรือคน เพื่อทำหน้าที่ ประเมินการทดลองปฏิบัติงาน

ข้อ ๑๐

ᅟᅟᅟᅟข้อ ๑๐  ให้คณะกรรมการประเมิน ทำการประเมินการทดลองปฏิบัติงานของบุคลากร ผู้ผ่านกระบวนการสรรหา และการคัดเลือก ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่มหาวิทยาลัยกำหนดอย่าง ต่อเนื่องทุกภาคการศึกษา ทั้งนี้ ให้นําผลการประเมินของแต่ละภาคการศึกษามาพิจารณาด้วย

ข้อ ๑๑

ᅟᅟᅟᅟข้อ ๑๑  เมื่อบุคลากรได้ทดลองปฏิบัติงานตามความในข้อ ๖ หรือข้อ ๗ และผ่านการทดลอง การปฏิบัติงาน โดยมีผลการประเมินว่าเป็นผู้มีความสามารถเหมาะสมในด้านการปฏิบัติงาน ด้าน ความประพฤติ และด้านความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ตลอดจนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลใน การปฏิบัติงาน ตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง ให้คณะกรรมการประเมิน เสนอผล การพิจารณาต่อคณะกรรมการบริหารงานบุคคล เพื่อให้อธิการบดีได้พิจารณาบรรจุแต่งตั้งต่อไป

ข้อ ๑๒

ᅟᅟᅟᅟข้อ ๑๒  เมื่ออธิการบดีได้รับผลการพิจารณาตามข้อ ๑๑ ให้บรรจุบุคคลดังกล่าวเป็นบุคลากรประจำย้อนหลังไปตั้งแต่วันแรกที่ได้รับการสั่งให้ทดลองปฏิบัติงาน เป็นต้นไป

ข้อ ๑๓

ᅟᅟᅟᅟข้อ ๑๓  ในกรณีที่ผู้ได้รับการทดลองปฏิบัติงาน ปฏิบัติงานยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้าง หากคณะกรรมการประเมินพิจารณาว่ามีเหตุผลอันสมควรที่จะให้ผู้นั้นออกจากงาน ก็ให้คณะกรรมการประเมิน รายงานไปยังอธิการบดีเพื่อนําเสนอคณะกรรมการบริหารงานบุคคลพิจารณาให้ความเห็นชอบ สั่งให้บุคลากรผู้นั้นพ้นจากสภาพการจ้างเป็นบุคลากร โดยไม่มีสิทธิ์ได้ รับเงินกองทุนสะสมสมทบในส่วนที่มหาวิทยาลัยจัดให้

ข้อ ๑๔

ᅟᅟᅟᅟข้อ ๑๔  การสั่งให้บุคลากรพ้นสภาพการจ้างตามข้อ ๑๓ มหาวิทยาลัยจะแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบล่วงหน้าก่อนการยกเลิกการจ้าง ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน

ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๒

(พระราชวรมุนี)

อธิการบดี

ประธานกรรมการบริหารงานบุคคล

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

*ดาวน์โหลดประกาศนี้

กองกลาง สำนักงานอธิการบดี

Recommended Posts