132 รวมเข้าชม,  1 เข้าชมวันนี้

]

 

การยอมรับพลังงานนิวเคลียร์เกิดขึ้นหลังจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ถูกใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าในเอเชียมีราคาพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากรัสเซียรุกรานยูเครนจนเกิดความสับสนอลหม่านในตลาดต่างๆ โดยหลายประเทศตัดสินใจไม่ซื้อพลังงานจากรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกพลังงานเชื้อเพลิงรายใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะทำให้พลังงานเชื้อเพลิงมีปริมาณน้อยลง และราคาก็ยิ่งจะไต่ระดับสูงขึ้นในอนาคต

ในปี 2563 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกคิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของไฟฟ้าทั้งหมดในโลก โดยมีเพียง 15 ประเทศที่ร่วมกันผลิตพลังงานนิวเคลียร์โลกได้มากกว่า 91% ซึ่งสหรัฐฯนั้นเป็นประเทศอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 31% รองลงมาคือ จีน ที่ผลิตพลังงานนิวเคลียร์ได้ที่ 13.5% และอันดับที่ 3 คือ ฝรั่งเศสที่ 13.3%

แต่เมื่อมองในมุมที่ว่า ประเทศใดพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์มากที่สุด ประเทศฝรั่งเศสนำโด่งมาเป็นที่ 1 ในสัดส่วนที่มากถึง 70.6% ตามมาด้วยประเทศสโลวะเกีย 53.1% และประเทศยูเครนที่ 51.2% ทั้งนี้ มีเพียงประเทศเกาหลีใต้ที่เป็นประเทศจากเอเชียติดอันดับที่ 13 พึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ที่ 29.6%

แม้ว่าบางประเทศ เช่น เยอรมนี มีแผนที่จะค่อยๆ ยกเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์ แต่ความต้องการใช้พลังงานไร้คาร์บอนอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการฟื้นคืนของ “พลังงานนิวเคลียร์” โดยขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นและเกาหลีใต้กำลังยุตินโยบายต่อต้านนิวเคลียร์ ขณะที่ จีนและอินเดีย กำลังมุ่งสร้างเครื่องปฏิกรณ์มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดแคลนพลังงานในอนาคต และควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงบรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อยู่ระหว่างการสำรวจเกี่ยวกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์เช่นกัน

การยอมรับพลังงานนิวเคลียร์เกิดขึ้นหลังจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ถูกใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าในเอเชียมีราคาพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากรัสเซียรุกรานยูเครนจนเกิดความสับสนอลหม่านในตลาดต่างๆ โดยหลายประเทศตัดสินใจไม่ซื้อพลังงานจากรัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกพลังงานเชื้อเพลิงรายใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะทำให้พลังงานเชื้อเพลิงมีปริมาณน้อยลง และราคาก็ยิ่งจะไต่ระดับสูงขึ้นในอนาคต

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้พลังงานนิวเคลียร์ที่ทั้งเป็นพลังงานสะอาดและเชื่อถือได้ ยิ่งเป็นที่น่าสนใจสำหรับเหล่าผู้นำประเทศที่ต้องการควบคุมเงินเฟ้อ, บรรลุเป้าหมายการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดการพึ่งพาผู้ค้าพลังงานจากต่างประเทศ

การกลับมาของพลังงานนิวเคลียร์ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยมีแรงสนับสนุนจากหลายประเทศนับตั้งแต่อังกฤษไปจนถึงอียิปต์ แต่ที่น่าประหลาดใจคือ เป็นไปได้อย่างไรที่พลังงานนิวเคลียร์กำลังเป็นที่สนใจในหมู่ประเทศเอเชียเช่นเดียวกัน เนื่องจากเคยเกิดภัยพิบัติที่นำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงมาสู่ญี่ปุ่นเมื่อกว่า 10 ปีก่อนมาแล้ว

ก่อนหน้านี้ อนาคตของพลังงานนิวเคลียร์ในเอเชียค่อนข้างจะสดใสจนกระทั่งเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิพัดถล่มฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ในเดือนมีนาคม ปี 2554 โดยวิกฤติการณ์ครั้งนั้น ทำให้รัฐบาลของหลายประเทศเชื่อว่าพลังงานนิวเคลียร์นั้นมีความเสี่ยงมากกว่าจะสร้างประโยชน์ ขณะที่เยอรมนีและไต้หวันตัดสินใจขีดเส้นตายที่จะปิดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ อีกทั้งค่าใช้ง่ายจำนวนมหาศาลในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่และความล่าช้าที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งล้วนถูกมองว่าเป็นอุปสรรคด้วย

เมื่อค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคต่างๆ สูงขึ้น และหลายชาติต้องต่อสู้กับเงินเฟ้อด้านพลังงานเชื้อเพลิง ทำให้รัฐบาลของหลายประเทศหันกลับมาให้ความสำคัญกับพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง เนื่องจากพลังงานนิวเคลียร์ใช้แร่ยูเรเนียมเพียงเล็กน้อย เพื่อดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่างจากโครงการพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ อย่างลมและแสงอาทิตย์

เหตุผลข้างต้นนี้ เป็นสิ่งที่สนับสนุนให้ญี่ปุ่นพิจารณาที่จะพัฒนาและสร้างเครื่องปฏิกรณ์ยุคใหม่ ขณะเดียวกันก็จะเริ่มกลับมาใช้เครื่องปฏิกรณ์เก่าที่ปล่อยทิ้งไว้มานานอีกครั้งด้วย ท่ามกลางเสียงสนับสนุนจากประชาชนราว 58%

เช่นเดียวกันกับเกาหลีใต้ ในปีนี้ประชาชนได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ที่เป็นผู้สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ โดยผู้นำเกาหลีใต้ต้องการพลังงานนิวเคลียร์ให้มีสัดส่วนราว 30% ของการผลิตพลังงานทั้งหมด พร้อมให้คำมั่นจะทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ด้านอุปกรณ์นิวเคลียร์และเทคโนโลยี รวมทั้งผนึกพลังงานนิวเคลียร์และพลังงานหมุนเวียนเข้าด้วยกันเพื่อผลักดันให้ก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

“จีน” เป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังเร่งมือจัดการกับโครงการพลังงานนิวเคลียร์และพลังงานน้ำ โดยจีนกำลังต่อสู้กับปัญหาคลื่นความร้อนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ที่ทำให้เกิดการขาดแคลนพลังงานในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งขณะนี้จีนกำลังสร้างเครื่องปฏิกรณ์ขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของนิวเคลียร์ เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานที่ไม่เพียงพอ และลดการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานฟอสซิล

โดยข้อมูลจาก สมาคมนิวเคลียร์โลก (WNA) ระบุว่า ปัจจุบันจีนมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีกำลังการผลิต 24 กิกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างและอีก 34 กิกะวัตต์อยู่ในแผน ซึ่งหากทั้งหมดนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จและบรรลุผลก็จะทำให้จีนกลายเป็นผู้ผลิตพลังงานนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ด้าน “อินเดีย” ก็กำลังจับจังหวะการขยายเข้าสู่พลังงานนิวเคลียร์เช่นกัน เนื่องจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของอินเดียมุ่งที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 2 แห่ง โดยปัจจุบันอินเดียสามารถผลิตไฟฟ้าราว 70% จากถ่านหินและอีกราว 3% จากนิวเคลียร์ แต่ผู้นำอินเดียตั้งเป้าที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ให้เกินกว่า 3 เท่าในอีก 10 ปีข้างหน้า

ไม่เพียงแต่ชาติเอเชียขนาดใหญ่ที่กลับมาให้ความสำคัญกับพลังงานนิวเคลียร์กันอย่างคึกคัก แม้กระทั่งประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็หันกลับมามองพลังงานนิวเคลียร์ โดยฟิลิปปินส์กำลังศึกษาเกี่ยวกับโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เพื่อลดต้นทุนไฟฟ้า และปรับปรุงด้านการจัดหาพลังงานต่างๆ ให้ดีขึ้น ส่วนอินโดนีเซียวางแผนที่จะเริ่มดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกของประเทศในปี 2588 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายของประเทศที่จะบรรลุ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี

ขณะที่ “สิงคโปร์” ระบุว่า นิวเคลียร์รุ่นหลังหรือเทคโนโลยีความร้อนใต้พิภพอาจจะมีสัดส่วนราว 10% ของสัดส่วนพลังงานของประเทศภายในปี 2593 ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงจากเมื่อ 10 ปีก่อน เมื่อสิงคโปร์ได้ตัดสินใจแล้วว่าเครื่องปฏิกรณ์แบบดั้งเดิมนั้นไม่เหมาะสมอีกต่อไป

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่รัฐบาลของทุกประเทศจะเห็นด้วยกับการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ยกตัวอย่าง ไต้หวันที่ยังไม่เปลี่ยนท่าทีที่จะยกเลิกพลังงานนิวเคลียร์ โดยวางแผนที่จะปิดเครื่องปฏิกรณ์ต่างๆ ภายในปี 2568 หรืออีกเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าการมุ่งจะใช้ ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ให้ได้มากถึงครึ่งหนึ่งของความต้องการใช้พลังงานของประเทศภายในปี 2568 ซึ่งเพิ่มขึ้น 36% จากปี 2564 จะกลายเป็นจุดอ่อนของไต้หวันเมื่อต้องต่อกรกับจีนในอนาคต

ทั้งนี้ เพราะจีนอาจไม่ต้องใช้กำลังบังคับแต่อย่างใด เพียงแค่ปิดกั้นเส้นทางขนส่ง LNG ก็เพียงพอจะทำให้ไต้หวันเดือดร้อนแล้ว และชาติยุโรปก็แสดงให้เห็นว่าแม้กระทั่งเครื่องปฏิกรณ์ขนาดใหญ่ก็ไม่สามารถทำให้ไว้วางใจในเรื่องอุปทานไฟฟ้าได้ เช่น ฝรั่งเศสที่เป็นหนึ่งในผู้ผลิตพลังงานนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็กำลังเผชิญกับค่าไฟฟ้าที่สูงเป็นประวัติการณ์อันเนื่องมาจากเครื่องปฏิกรณ์ต่างๆ เกิดขัดข้อง

นอกจากนี้ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมยังโต้เถียงว่า พลังงานนิวเคลียร์ยังคงผลิตคาร์บอนในปริมาณที่สูงเมื่อเทียบกับพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยพิจารณาจากส่วนอื่นๆ ของวงจรชีวิตของพลังงานนิวเคลียร์ เช่น เหมืองแร่ยูเรเนียม, การบดแร่ยูเรเนียมและที่เก็บของเสียต่างๆ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้พลังงานนิวเคลียร์ผลิตคาร์บอนได้เหมือนกับพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล

ขณะที่ โครงการนิวเคลียร์รุ่นใหม่ เช่น เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMRs ยังคงต้องใช้เวลาสำหรับการพัฒนาอีกนับสิบปีและยังไม่สามารถช่วยแก้ไขสถานการณ์การบีบคั้นด้านพลังงานในปัจจุบันได้ทันที แต่ก็มองเห็นความเคลื่อนไหวของรัฐบาลและบริษัทต่างๆ ที่พยายามส่งเสริมเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤติในอนาคต

ที่มา: ศิริอาภา คำจันทร์ ASEAN Specialist AEC Connect ธนาคารกรุงเทพ

ASEAN Studies Centre

Recommended Posts