299 รวมเข้าชม, 1 เข้าชมวันนี้
]
ธนาคารกลางอินโดนีเซียกำลังพยายามที่จะลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐของประเทศ โดยวางแผนที่จะอนุญาตให้ทำธุรกรรมสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแบบไม่มีการส่งมอบเมื่อครบกำหนด (Non-Deliverable Forward Contracts: NDFs) ในสกุลเงินอื่นๆ ในปีหน้า และเพื่อบรรลุข้อตกลงเพิ่มเติมสำหรับการชำระสกุลเงินท้องถิ่นภายในประเทศ
.
หน่วยงานด้านการเงินกำลังเจรจาสัญญาชำระสกุลเงินท้องถิ่นกับเกาหลีใต้และออสเตรเลีย ขณะเดียวกันก็ผลักดันให้มีการเจรจาสรุปข้อตกลงกับจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศ
.
Edi Susianto กรรมการบริหารฝ่ายการจัดการการเงินของธนาคารกลางกล่าวว่า แม้การเริ่มต้นลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐนั้นจะค่อนข้างใหม่ แต่ก็เห็นถึงความเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในแง่ของการทำธุรกรรมชำระเงินด้วยสกุลเงินท้องถิ่น
.
นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังมีข้อตกลงกับไทย มาเลเซีย และญี่ปุ่น ในการเพิ่มจำนวนธุรกรรมที่ชำระด้วยสกุลเงินที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐอยู่แล้ว ซึ่งเพิ่มจากมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปลายปี 2564 เป็น 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ธนาคารกลางระบุว่าธุรกรรมดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น 10% ในปีนี้
.
อินโดนีเซียนับเป็นผู้สนับสนุนหลักในการใช้สกุลเงินท้องถิ่นสำหรับธุรกรรมการค้าและการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และพื้นที่อื่นๆ ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้การแปลงสกุลเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังช่วยเพิ่มความพร้อมของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอีกด้วย ทั้งนี้ สาเหตุที่นโยบายดังกล่าวเร่งด่วนมากขึ้นเป็นเพราะค่าเงินรูเปียห์ร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีในปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา
.
อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินรูเปียห์ในครั้งนี้น่าจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เนื่องจากเศรษฐกิจอินโดนีเซียอยู่ในทิศทางเชิงบวกที่จะสามารถดึงดูดเงินทุนได้อย่างต่อเนื่องและช่วยให้เงินรูเปียห์กลับสู่มูลค่าพื้นฐานได้ ดังนั้นการแทรกแซงตลาดของธนาคารกลาง ควรอยู่ในระดับที่พอที่จะทำให้เงินรูเปียห์มีเสถียรภาพจนกว่าจะถึงตอนนั้น
.
ขณะที่ทุนสำรองต่างประเทศของอินโดนีเซียคาดว่าจะลดลงตลอดจนสิ้นปีนี้ แต่ก็จะสามารถครอบคลุมมูลค่าการนำเข้าระยะเวลามากกว่า 6 เดือนได้เพียงพอ โดยเงินสำรองอยู่ที่ 1.32 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนสิงหาคม หรือเทียบเท่ากับการนำเข้าเป็นระยะเวลา 6.1 เดือน
ที่มา: AEC Connect
ASEAN Studies Centre