261 รวมเข้าชม, 2 เข้าชมวันนี้
]
“เอเปค” โจ ไบเดน ไม่มาไทย : สำคัญไหมในมุมความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ
โดย ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคในไทย เพื่อร่วมงานแต่งงานของหลานสาวที่ทำเนียบขาว
ด้านนักรัฐศาสตร์มองว่า คนไทยอาจรู้สึก “น้อยใจ” แต่อยากให้มองที่ข้อตกลงที่เป็นรูปธรรม มากกว่าการที่ผู้นำจะมาหรือไม่ มากกว่า
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ จะไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค ที่จะจัดขึ้นในกรุงเทพฯ ระหว่าง 18-19 พ.ย.นี้ ด้วยเหตุผล “ทางครอบครัว”
ไทยพีบีเอสเวิลด์ รายงานว่า ทำเนียบขาวได้แจ้งต่อสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงวอชิงตัน ดีซี ว่า ไบเดนจะส่งรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมเอเปคในไทยแทน
ข่าวนี้ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ทางโลกโซเชียลในหลายแง่มุมว่า ผู้นำสหรัฐฯ อาจมองการเยือนไทยไม่สำคัญ เป็นการหักหน้า ไปจนถึงการที่รัฐบาลไทยเชิญประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคด้วย
แต่ ผศ.ประพีร์ อภิชาตสกล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บอกกับบีบีซีไทยว่า การที่ผู้นำสหรัฐฯ ไม่มาไทยนั้น มองได้หลายแง่มุม
“ความรู้สึกตอนนี้ของเรา อาจเป็นความน้อยใจ เหมือนตอนที่เขา (อเมริกา) ไม่เชิญผู้นำไทยไปประชุมสุดยอดประชาธิปไตย…แต่การที่เขาไม่ได้มาด้วยตนเอง ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่สนใจ”
เหตุผลที่ไบเดน ขอไม่เยือนไทย
ตามกำหนดการนั้น ประธานาธิบดีไบเดนจะเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำจี 20 ในบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่าง 15-16 พ.ย. หลังจากนั้น ก่อนเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อร่วมประชุมเอเปคเป็นเวลา 1 วัน แต่กำหนดการณ์ใหม่ คือ เมื่อเสร็จจากจี 20 ในบาหลีแล้ว เขาจะเดินทางกลับกรุงวอชิงตัน ดีซี ในทันที เพื่อร่วมงานแต่งงานที่ทำเนียบขาว
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า เป็นการงานแต่งงานของ นาโอมิ ไบเดน หลานสาวคนโตของประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับนายปีเตอร์ นีล คู่หมั้น ตรงกับวันที่ 19 พ.ย. โดยถือเป็นการแต่งงานในทำเนียบขาวครั้งแรกในรอบ 10 ปี
“แต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เล็งเห็นความสำคัญของเอเปค ตอนนี้ ประเทศไทยและสหรัฐฯ กำลังประสานงานเพื่อหาวิธีให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้าร่วมการประชุมได้อยู่” นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงผ่านบัญชีทวิทเตอร์
สำหรับการประชุมในบาหลีนั้น ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมด้วย เช่นเดียวกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ซึ่งจะถือเป็นการเผชิญหน้าสำคัญในเวทีโลก หลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน มานานกว่า 7 เดือน
การตั้งข้อสงสัยแบบรัฐศาสตร์
ผศ.ประพีร์ ซึ่งเป็นอุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาแห่งประเทศไทยด้วย ยอมรับว่า ณ จุดนี้ ยังไม่สามารถชี้ชัดถึงเหตุผลที่แท้จริงที่ไบเดนไม่เดินทางมาไทยในช่วงกลางเดือน พ.ย. ได้ และเราอาจไม่ทราบคำตอบที่แท้จริงก็เป็นได้
แต่การตัดสินใจไปบาหลี ไม่มาไทย เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะ “เขากังวลกับปัญหาภายใน เพราะยุ่งอยู่แล้ว” พร้อมวิเคราห์ปัจจัยไว้ 3 ข้อ ดังนี้
1.การเมืองภายใน เนื่องจากอเมริกากำลังจะมีการเลือกตั้งกลางเทอมในช่วงนั้นพอดี ซึ่งหากไบเดนกู้คะแนนนิยมกลับมาได้ไม่มากพอ จนเสียที่นั่งเพิ่มให้พรรครีพับลิกัน ไบเดนจะตกอยู่ในที่นั่งลำบาก
“เขาต้องเอาใจคนในประเทศหรือเปล่า อะไรเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของเขา ในตอนนี้ ที่คะแนนนิยมตกลงอย่างมาก” ผศ.ประพีร์ กล่าว พร้อมชี้ว่า ตอนนี้ คนอเมริกันให้ความสนใจกับปากท้อง และผลพวงทางเศรษฐกิจจากการคว่ำบาตรรัสเซีย กรณีรุกรานยูเครนมากกว่า เพราะมันกลายเป็นดาบสองคม กลับมาทำร้ายเศรษฐกิจทั้งอเมริกาและยุโรป
2.ครอบครัวต้องมาก่อน เพราะคนอเมริกันให้ความสำคัญกับเรื่องของครอบครัว
3.เวทีประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคสำคัญแค่ไหนต่อเมริกา ซึ่งต้องดูที่ผู้นำโลกมาเข้าร่วมมากแค่ไหน
แต่ท้ายสุด “ยังเหลืออีกสองเดือน เราทำนายไม่ได้ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น” และถ้าไบเดนไม่เยือนไทยจริง “แล้วเขาบอกจะส่งกมลา แฮร์ริส (รองประธานาธิบดี) มา ก็ถือว่าใช้ได้อยู่” ในด้านตำแหน่งของผู้เข้าร่วมประชุมแทน
ผศ.ประพีร์ บอกว่า เมื่อเทียบกับในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่ได้เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 35 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อปี 2562 แล้วส่ง โรเบิร์ด ซี. โอไบรอัน ผู้ช่วยประธานาธิบดีฝ่ายกิจการความมั่นคงแห่งชาติมาแทน การเลือกส่งนางแฮร์ริส ซึ่งเป็นระดับรองประธานาธิบดี ถือว่าให้เกียรติไทยอย่างมาก
“ครั้งนั้น โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ไม่มาในการประชุมอาเซียนครั้งที่ 35 เขาส่งระดับไม่สูงมา เราก็โกรธเพราะส่งคนที่ไม่สำคัญมา (ไทย)” ทั้งที่ในปี 2560 ทรัมป์เดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในฟิลิปปินส์ด้วยตนเอง
วัดระดับความจริงใจของอเมริกา หรือไทยเป็นแค่ทางผ่าน
“อนาคตของเราแต่ละประเทศ ซึ่งแท้จริงแล้วคือทั้งโลกนั้น ขึ้นอยู่กับความยืนยงและเจริญรุ่งเรืองในอีกหลายทศวรรษข้างหน้าของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” นี่คือคำปราศรัยของโจ ไบเดน ในการประชุมผู้นำกลุ่มภาคี 4 ประเทศในสหรัฐฯ เมื่อ 24 ก.ย. 2564 ด้วยเหตุผลว่า
ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก มีประชากรเกินกว่าครึ่งของประชากรทั้งโลก มีจำนวนคนรุ่นใหม่คิดเป็นร้อยละ 58 ของโลก มีเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 60 ของจีดีพีโลก มีการเติบโตทางเศรษฐกิจคิดเป็น 2 ใน 3 และภูมิศาสตร์ครอบคลุมร้อยละ 65 ของมหาสมุทรบนโลก และร้อยละ 25 ของผืนดินทั้งโลก
แล้ว “อเมริกาจริงใจกับพวกเราหรือเปล่า” ผศ.ประพีร์ ตั้งคำถาม พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่อเมริกาเสนอให้ไทย และชาติอาเซียนเข้าไปร่วมมือด้วยนั้น ยังไม่เป็นรูปธรรมสักเท่าไหร่ ยกตัวอย่าง “กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก” (IPEF) ที่ออกแบบเพื่อคานอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาค ส่วนการเชิญไทยและชาติอาเซียนไปประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ-อาเซียน เมื่อเดือน พ.ค. 2565 ก็ดูเป็นพิธีการทางการทูตมากกว่า แต่ยังไม่ผลิดอกออกผลเป็นรูปเป็นร่าง
“มันเป็นเชิงสัญลักษณ์มากกว่า ไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย ไทยก็ไม่ได้อะไรเลย ทั้งที่ตอนนั้นนายกฯ (พล.อ. ประยุทธ์) เราไป”
และ “ตลอดทั้งปี เราก็เห็น บลิงเคน มาไทย เห็น กมลา ผ่านมาใกล้…แต่ถ้ามองผู้นำระดับสูง มาครั้งนี้ก็แวบ ๆ เหมือนเราเป็นทางผ่านอะไรสักอย่าง” ผศ.ประพีร์ กล่าวย้อนไปถึงการเยือนไทยของเจ้าหน้าที่ระดับสูงสหรัฐฯ และการเฉียดมาใกล้ไทยของนางกมลา แฮร์ริส เมื่อปีก่อน
นับแต่โจ ไบเดน ขึ้นรับตำแหน่งเมื่อ 2 ปีก่อน ได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีเยือนไทย 2 คน คือ นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายคาร์โลส เดล โทโร รัฐมนตรีว่าการทบวงทหารเรือสหรัฐฯ เมื่อเดือน ก.ค. 2565 ส่วนนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีนั้น เคยอยู่ในภูมิภาคอาเซียน เมื่อคราวเยือนสิงคโปร์และเวียดนาม ช่วงปลายปีที่แล้ว แต่ไม่ได้เดินทางมาไทย เช่นเดียวกับ ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ที่เลือกไปสิงคโปร์และเวียดนาม แต่ไม่มาไทยเช่นกัน
“ตอนนี้ เหมือนเราน้อยใจ แต่มันอาจจะไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น” ผศ.ประพีร์ กล่าว พร้อมชวนวิเคราะห์ว่า การเดินทางเยือนของผู้นำที่ได้ “ภาพสวย” กับการบรรลุข้อตกลงที่เห็นผล “เป็นรูปธรรม” ทั้งที่ผู้นำไม่ได้มาด้วยตนเอง นั้นแตกต่างกัน
“อยากให้ดูความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม มากกว่าดูว่าผู้นำของเขาจะมาหรือไม่มา”
ไทย “พร้อม” เป็นเจ้าภาพเอเปค
26 ก.ย. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยความคืบหน้าการเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่าง 18 – 19 พฤศจิกายน 2565 นี้ โดยใช้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นสถานที่สำหรับการประชุมหลัก และหอประชุมกองทัพเรือสำหรับงานเลี้ยงอาหารค่ำอย่างเป็นทางการ สำหรับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและคู่สมรส
นายอนุชากล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยร่วมกันเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ของไทยอย่างแข็งขัน โดยด้านการรักษาดูแลความปลอดภัย ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้เตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และชุดปฏิบัติการพิเศษ ฝึกซ้อมแผนแก้ไขปัญหาสถานการณ์วิกฤต และการเผชิญเหตุ รองรับการประชุมเอเปค 2565 ในช่วงวันที่วันที่ 16 – 20 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา โดยมีการซักซ้อมยุทธวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น
ในส่วนของงานเลี้ยงอาหารค่ำสำหรับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและคู่สมรสจะมีขึ้นที่หอประชุมกองทัพเรือ ได้มีการเตรียมการให้สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG) ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ พร้อมคัดเลือกวัตถุดิบ และเมนูอาหาร เครื่องดื่มที่มีความเป็นเลิศในรสชาติตามตำรับไทยแท้ มีความสร้างสรรค์ และใช้วัตถุดิบที่โดดเด่นมีคุณภาพจากทุกภูมิภาคของไทย
อาทิ ผักออแกนิคจากวิสาหกิจชุมชนทั่วทุกภาคของเมืองไทย ไก่ฟ้าโครงการหลวง กุ้งมังกร 7 สีภูเก็ต ไข่เป็ดไล่ทุ่งเมืองสุพรรณบุรี เกลือเมืองเพชร กุ้งแม่น้ำอยุธยา ไก่บ้านออแกนิคจากนครปฐม ไข่ปลากุเลาแดดเดียวจากปัตตานี เนื้อโคขุนจากสหกรณ์โพนยางคำสกลนคร ข้าวหอมมะลิไทยจากทุ่งกุลาร้องไห้ และยอดกาแฟเมืองน่าน
ทั้งนี้ เมนูอาหารจะได้รับการรังสรรค์โดยเชฟชุมพล แจ้งไพร ซึ่งเป็น 1 ใน 9 APEC Presenters นอกจากนี้ ยังมีการนำผลิตภัณฑ์ งานศิลปหัตถกรรมไทย จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาใช้ในการตกแต่งโต๊ะอาหาร ซึ่งจะสะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี
“รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมุ่งมั่นร่วมกันเตรียมความพร้อมประเทศไทยในทุกด้าน สู่การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ย. นี้ โดยพิจารณาดำเนินการอย่างเหมาะสม สมเกียรติเต็มภาคภูมิ และสอดคล้องกับแนวคิดหลักที่ไทยผลักดันในการเป็นเจ้าภาพ
ที่มา: BBC NEWS ไทย
ASEAN Studies Centre