142 รวมเข้าชม,  1 เข้าชมวันนี้

]


วันนี้(๒๐ เมษายน ๒๕๖๖) บัณฑิตวิทยาลัย และวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้บันทึกลงนามข้อตกลง (MOU) กับมูลนิธิพุทธรังษี (วัดฝอกวงซัน) ประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาพระพุทธศาสนาในระดับประกาศนียบัตร ระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ส่งเสริมการแปลคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนาทั้งเถรวาทและมหายาน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมนานาชาติ

ในการนี้มีการสัมมนาเรื่อง “พระพุทธศาสนากับวัฒนธรรมการแปลคัมภีร์” พระธรรมาจารย์ซินติ้ง เจ้าอาวาสวัดฝอกวงซันได้อธิบายถึงวัฒนธรรมการแปลคัมภีร์สำคัญของจีนตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยยกท่านกุมารชีพกับท่านพระถังซัมจั๋ง เป็นบรมครูต้นแบบแห่งการแปลคัมภีร์สู่สังคมจีน
ปัจจุบันวัดฝอกวงซัน ได้ตั้งศูนย์การแปลคัมภีร์พุทธศาสตร์ไทย-จีน มีการแปลคัมภีร์ที่สำคัญไปแล้วหลายเรื่อง เช่น วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร พระสัทธรรมปุณฑรีกสูตร คัมภีร์ ๔๒ บท ปฐมคัมภีร์พระพุทธศาสนาพากย์จีน และคัมภีร์ไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาสยปูรวปณิธานสูตร เป็นต้น

พระสุธีรัตนบัณฑิต คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย กล่าวว่า การแปลและการรจนาคัมภีร์ในสังคมไทยมีสืบเนืองมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ล้านนา อยุธยา และรัตนโกสินทร์ โดยมีการแปลคัมภีร์ที่สำคัญ เช่น มังคลัตถทีปนี ชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นต้น เพื่อให้องค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนาสู่สากล รวมทั้งส่งเสริมการอนุรักษ์คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาในสังคมไทย

พระมหาสมพงษ์ คุณากโร รองผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ กล่าวถึงโครงการแปลพระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ เป็นภาษาอังกฤษว่า เป็นโครงการที่รัฐบาลไทยสนับสนุน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๑๐ ซึ่งมีพระพรหมบัณฑิต เป็นประธาน และมีนักวิชาการการทั่วโลกมาช่วยแปล

รศ.ดร.โกนิฏฐ์ ศรีทอง รองผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ว่า ได้ส่งเสริมการแปลคัมภีร์มาตั้งแต่ในอดีต จนถึงปัจจุบัน โดยมีการจัดพิมพ์คัมภีร์สำคัญหลายเล่มทั้งที่เป็นภาษาอังกฤษ ไทย และอื่น ๆ

มจร และมูลนิธิฯจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องบนความสัมพันธ์อันดีงามของไทย จีน และนานาชาติ

บัณฑิตวิทยาลัย

Recommended Posts